คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อที่พิพาทโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิโดยมิชอบ เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่พิพาทเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 (อ้างฎีกาที่ 1145/2495 และ 1138/2507)
ฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงว่า การจดทะเบียนโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นไปโดยไม่สุจริต เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาท ทั้งนี้ ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า อย่างน้อย จำเลยก็ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่นอกฟ้องนอกประเด็น
(อ้างฎีกาที่ 228/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินแล้ว แต่จำเลยไม่ไปโอนทะเบียนให้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่สุจริต เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะจะให้จดทะเบียนได้ก่อน และโจทก์ได้ครอบครองที่ดินอยู่จนบัดนี้ ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมและจดทะเบียนระหว่างจำเลยทั้งสาม แล้วจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือให้จำเลยร่วมกันใช้ราคาที่ดิน
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินให้แก่โจทก์ ไม่เคยยินยอมให้จำเลยที่ ๒ เอาไปขายให้จำเลยที่ ๓ โจทก์ไม่ขวนขวายให้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เสีย ปล่อยละเลยมาเกินสมควร โจทก์ควรฟ้องจำเลยที่ ๒ หนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดินแก่จำเลยที่ ๓ นั้นปลอม จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ และได้จดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์แล้ว จำเลยเพิ่งทราบว่ามีบ้านโจทก์อยู่ในที่ดินเมื่อซื้อแล้ว โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ การที่โจทก์เข้าปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๓ เป็นการละเมิดทำให้จำเลยที่ ๓ ต้องเสียหายเพราะใช้ที่พิพาทไม่ได้ โจทก์ต้องรับผิด จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๓
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ซื้อและครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต จำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยประมาทเลินเล่อและไม่สุจริต โจทก์ได้ปลูกบ้านและห้องแถวอยู่ก่อนจำเลยที่ ๓ ไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ ๓ ไม่เสียหาย ฟ้องแย้งเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๓ ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ ๒ โดยไม่สุจริต โจทก์ได้ซื้อที่พิพาทและครอบครองมาก่อนโดยสุจริต ทั้งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายได้ และโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ทำการเกินขอบอำนาจ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๓ ออกจากทะเบียนแล้วลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของโฉนด ถ้าไม่อาจทำได้ ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันใช้เงินค่าที่ดิน ค่าบ้าน ค่าห้องแถว และค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการโอนโฉนดรายพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๓ ได้ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ ๒ โดยไม่สุจริต และใช้สิทธิโดยมิชอบ เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ดังนัยฎีกาที่ ๑๑๔๕/๒๔๙๕ และ ๑๑๓๘/๒๕๐๗ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลล่างวินิจฉัยให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายของจำเลยที่ ๓ โดยศาลชั้นต้นสั่งโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ ก็ดี และที่ศาลอุทธรณ์สั่งโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ก็ดี ล้วนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน และไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรายนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ ดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้ครบถ้วนแล้วว่า การจดทะเบียนโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เป็นไปโดยไม่สุจริต เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และได้มีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาทไว้แล้วด้วย ทั้งนี้ ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า อย่างน้อย ก็เป็นการที่จำเลยที่ ๒ ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่นอกฟ้องนอกประเด็น ดังนัยฎีกาที่ ๒๒๘/๒๕๐๖ และค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้น เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว
พิพากษายืน

Share