คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74 ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะสอบสวนคู่กรณีในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดได้สอบสวนโจทก์ ก่อนที่จะดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทให้ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อปรากฏจากการสอบสวนตามถ้อยคำของโจทก์เองว่า โจทก์มีภริยาเป็นคนสัญชาติจีนซึ่งเป็นคนต่างด้าว อยู่กินกันมาจนมีบุตรถึง 12 คน แล้ว และโจทก์ก็จะซื้อที่พิพาทเพื่อปลูกบ้านอยู่จึงเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินควรเชื่อได้ว่าโจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเอก ได้บันทึกเรื่องเสนอกรมที่ดินจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้เสนอต่อไปยังกระทรวงหมาดไทยจำเลยที่ 5 เพื่อพิจารณา จึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเมื่อจำเลยที่ 5 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาและมีคำสั่งไม่อนุมัติให้มีการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาท คำสั่งเช่นว่านี้จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4ปฏิบัติการดังกล่าว โดยเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ การกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 5ที่สั่งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมโอนที่พิพาทให้โจทก์ เมื่อถึงวันนัดโอนที่พิพาทตามสัญญาประนีประนอม จำเลยที่ 2 แกล้งร้องคัดค้านต่อจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์มีภริยาเป็นคนต่างด้าว ไม่ควรรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ ความจริงโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกับภริยา จึงไม่ถือว่าโจทก์มีภริยาเป็นคนต่างด้าว จำเลยที่ 1ได้ให้เจ้าหน้าที่บันทึกถ้อยคำของโจทก์โดยไม่ตรงต่อความจริง และทำบันทึกเสนอกรมที่ดินจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ได้เสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 5จำเลยที่ 4 พิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุมัติตามมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์ซื้อที่พิพาทเพื่อขายต่อ มิได้ซื้อเพื่อคนต่างด้าวหรือซื้อแทนคนต่างด้าว จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 จึงไม่มีอำนาจไม่อนุมัติให้โจทก์ซื้อที่พิพาท การกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นการละเมิดและไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน 359,000 บาท จึงขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ไม่อนุมัติให้โจทก์ซื้อที่พิพาท และสั่งให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้โจทก์ และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การรับว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จริง กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งไม่อนุมัติให้โจทก์ซื้อที่พิพาท จำเลยทั้งสองจึงมิใช่ฝ่ายผิดสัญญา

จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ให้การว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่พิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 สอบสวนปากคำโจทก์ โจทก์ให้การตามความสมัครใจว่าโจทก์มีภริยาที่มิชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติสัญชาติจีน มีบุตรด้วยกัน 12 คน และอยู่กินร่วมกันตลอดมา ฉะนั้น ภริยาโจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกับโจทก์รวมทั้งที่พิพาทนี้ด้วย จำเลยทั้งสามจึงเห็นว่า การที่โจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 เป็นที่ควรเชื่อได้ว่าโจทก์จะซื้อเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวคือภริยาโจทก์ จำเลยที่ 5 ได้มีคำสั่งไม่อนุมัติให้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการซื้อขายที่พิพาท จำเลยปฏิบัติชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะตามมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คำสั่งรัฐมนตรีเป็นที่สุด โจทก์จะนำคดีมาฟ้องอีกมิได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ไม่อนุมัติให้โจทก์ซื้อที่พิพาท ให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการตามคำขอซื้อที่ดินของโจทก์ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74บัญญัติว่า “ในการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนคู่กรณี ฯลฯ ถ้ามีกรณีเป็นที่ควรเชื่อได้ว่าการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นจะเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือเป็นที่ควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดจะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวให้ขอคำสั่งต่อรัฐมนตรี คำสั่งรัฐมนตรีเป็นที่สุด” เมื่อกฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะสอบสวนคู่กรณีในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เช่นนี้ การที่นายสมชาย บุญผดุง พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีได้สอบสวนโจทก์ ก่อนที่จะดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทให้ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อปรากฏจากการสอบสวนตามถ้อยคำของโจทก์เองว่าโจทก์มีภริยาเป็นคนสัญชาติจีนซึ่งเป็นคนต่างด้าว อยู่กินกันมาจนมีบุตรถึง 12 คนแล้ว และโจทก์ก็จะซื้อที่พิพาทเพื่อปลูกบ้านอยู่ จึงเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินควรเชื่อได้ว่าโจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเอก จังหวัดธนบุรีอยู่ในขณะนั้น ได้บันทึกเรื่องเสนอกรมที่ดินจำเลยที่ 4และจำเลยที่ 4 ได้เสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 5 เพื่อพิจารณานั้นจึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อจำเลยที่ 5 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาและมีคำสั่งไม่อนุมัติให้มีการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาท คำสั่งเช่นว่านี้จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ปฏิบัติการดังกล่าวโดยเจตนากลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด ฉะนั้น การกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 5 ที่สั่งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแต่ประการใด จากจำเลยทั้งสามดังกล่าวนี้ด้วย

พิพากษายืน

Share