คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้เฉพาะจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าธรรมเนียมการชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 4,964,434.49 บาท กับค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 1,600 บาท แก่โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงมิได้เป็นจำเลยตามอุทธรณ์ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เพื่อแก้อุทธรณ์ด้วยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ
การคิดคำนวณหนี้เป็นเงินไทยโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินสำหรับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีททุกจำนวนนั้น โจทก์ได้ใช้สิทธิเลือกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไป และการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ต้องปฏิบัติตามสัญญาทรัสต์รีซีท ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ แต่ปรากฏว่า โจทก์ชำระดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 แทนจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 และตั๋วแลกเงินที่โจทก์ออกสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ก็มีวันครบกำหนดจ่ายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น โจทก์จึงต้องคำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 จำนวน 106,013.45 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันของโจทก์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.70 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 3,360,626.37 บาท การที่โจทก์คำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 26 มกราคม 2541 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 55 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 5,830,739.75 บาท นั้นเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ชอบ
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทให้แก่โจทก์ ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และสัญญานี้ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นการระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ก็ตาม แต่ก็ระบุเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ย่อมต้องหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขซึ่งมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยไม่ตรงตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ประกอบด้วยข้อ 4 จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินไปโดยไม่ถูกต้องตามสัญญาทรัสต์รีซีทและขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศธนาคารโจทก์ กับ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ปัญหาการคิดอัตราแลกเปลี่ยนและการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ที่ทำให้จำนวนหนี้สูงเกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยมิชอบดังกล่าว เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงแรม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นเครดิตชนิดที่ต้องมีเอกสารประกอบเพื่อสั่งซื้อสินค้าเป็นเงิน 2,671,205 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ครั้นวันที่ 26 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ เพื่อขอรับเอกสารแสดงสิทธิในสินค้าไปรับสินค้าจากกรมศุลกากร โดยยังมิได้ชำระเงินค่าสินค้าให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะชำระเงินดังกล่าวโดยยอมให้โจทก์เลือกคำนวณค่าสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่โจทก์ชำระแทนไปหรืออัตราที่ตกลงกันไว้ หรืออัตราที่กำหนดไว้ท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในเงินค่าสินค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีททุกประการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว วงเงินจำนวน 67,000,000 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายแทนจำเลยไป โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวหลายครั้งแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 153,827,769.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 126,466,214.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (เฉพาะต้นเงินค่าธรรมเนียมและค่าโทรคมนาคมรวมจำนวน 4,966,034.49 บาท ไม่ขอคิดดอกเบี้ย) หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ขอให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองกับยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งหกให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 148,861,735.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 126,466,214.06 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 พฤษภาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 67,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2541 อัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2542 และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากภายหลังวันฟ้องมีกฎหมาย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย หรือประกาศธนาคารโจทก์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์เรียกจากลูกค้าประเภทเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือทรัสต์รีซีทที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดนัดในอัตราที่แตกต่างไปจากร้อยละ 18 ต่อปี ก็ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยจำเลยทั้งหกตามนั้น แต่ไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินได้สุทธิมาชำระจนครบจำนวนหนี้ ถ้าไม่พอชำระให้ยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วนจำนวนหนี้ที่แต่ละคนต้องรับผิด
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…คดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงประการเดียว โดยขอให้เฉพาะจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าธรรมเนียมการชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 4,964,434.49 บาท กับค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 1,600 บาท แก่โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงมิได้เป็นจำเลยตามอุทธรณ์ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เพื่อแก้อุทธรณ์ด้วยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศคงพิจารณาเฉพาะคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มีภาระหนี้ตามเอกสารสรุปยอดภาระหนี้ ซึ่งระบุถึงรายละเอียดค่าธรรมเนียมกับค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่นด้วยแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ตามคำฟ้องแล้ว ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามคำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าธรรมเนียมจำนวน 4,964,434.49 บาท กับค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่นจำนวน 1,600 บาท ให้แก่โจทก์ พยานจำเลยที่ 1 ที่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมเพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบหรือรู้เห็นและตกลงชำระให้แก่โจทก์ก็ดี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่น เพราะโจทก์ไม่ได้จ่ายไปจริงและไม่มีหลักฐานการจ่ายก็ดี เป็นเรื่องที่นอกเหนือไปจากข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังไม่ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมกับค่าโทรคมนาคมและค่าใช้จ่ายอื่นตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปรากฏตามคำฟ้องและข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่า การคิดคำนวณหนี้เป็นเงินไทยโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินสำหรับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีททุกจำนวนนั้น โจทก์ได้ใช้สิทธิเลือกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไป และการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ต้องปฏิบัติตามสัญญาทรัสต์รีซีท ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์แต่ปรากฏว่าเฉพาะดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าครบกำหนดชำระในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ตามที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบและจำเลยที่ 1 ตอบยืนยันรับทราบแล้ว โจทก์ชำระดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 นี้แทนจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 และตั๋วแลกเงินที่โจทก์ออกสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ก็มีวันครบกำหนดจ่ายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น โจทก์จึงต้องคำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 จำนวน 106,013.45 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันของโจทก์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.70 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 3,360,626.37 บาท การที่โจทก์คำนวณหนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 26 มกราคม 2541 ซึ่งมีอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 55 บาท คำนวณแล้วเป็นเงินไทยจำนวน 5,830,739.75 บาท นั้น เป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ชอบส่วนการคิดดอกเบี้ยในต้นเงินค่าสินค้าและต้นเงินค่าดอกเบี้ยจากต่างประเทศที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยที่ 1 ในงวดที่ 4 ถึงที่ 6 นั้น ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทให้แก่โจทก์ ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และสัญญานี้ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นการระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ก็ตาม แต่ก็ระบุเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ย่อมต้องหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้นเพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น หนี้ดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 ถึงที่ 6 และค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแทน จำเลยที่ 1 ถึงกำหนดชำระในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 วันที่ 26 มกราคม 2541 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ตามลำดับ และตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ในช่วงระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2541 โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อหลายฉบับ โดยมีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ไม่ใช่บัตรเครดิตและไม่ผิดนัดสูงสุดตั้งแต่อัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี ถึงร้อยละ 21.5 ต่อปี แล้วแต่ช่วงเวลาตามประกาศของโจทก์แต่ละฉบับ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 4 นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงินดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 5 นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2541 ในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี จากต้นเงินค่าสินค้าและดอกเบี้ยจากต่างประเทศงวดที่ 6 นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี และปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในต้นเงินทุกจำนวนดังกล่าวตลอดมาตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์โดยคิดในอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขซึ่งมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยไม่ตรงตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ประกอบด้วยข้อ 4 ดังได้วินิจฉัยมา จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินไปโดยไม่ถูกต้องตามสัญญาทรัสต์รีซีท และขัดต่อประกาศธนาคาแห่งประเทศไทย ประกาศธนาคารโจทก์ กับพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ปัญหาการคิดอัตราแลกเปลี่ยนและการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ที่ทำให้จำนวนหนี้สูงเกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยมิชอบดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพียงเท่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดดังกล่าวด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต้นเงินค่าสินค้าจำนวน 110,320,766.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ต้นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นดอกเบี้ยจากต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 งวดที่ 4 จำนวน 3,360,626.37 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ต้นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นดอกเบี้ยจากต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 งวดที่ 5 จำนวน 5,922,562.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26 มกราคม 2541 และต้นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นดอกเบี้ยจากต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 งวดที่ 6 จำนวน 4,392,145.56 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 โดยดอกเบี้ยทุกรายการดังกล่าวให้คิดไปจนกว่าจะชำระหนี้แต่ละจำนวนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินไม่เกิน 67,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากต้นเงินทุกจำนวนดังกล่าวให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระแก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข (และไม่ใช่สินเชื่อบัตรเครดิต) ตามประกาศธนาคารโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในช่วงเวลาต่าง ๆ และที่ประกาศต่อไปหลังวันฟ้อง โดยปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามคำฟ้องของโจทก์ โดยให้นำเงินที่โจทก์ไปใช้บริการสถานที่ของจำเลยที่ 1 จำนวน 30,408 บาท และ 87,617 บาท มาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2540 ด้วย กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 4,964,434.49 บาท ค่าโทรคมนาและค่าใช้จ่ายอื่นจำนวน 1,600 บาท แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share