คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ร้องขอให้ศาลไต่สวนแสดงว่าเป็นคนไทย เพิกถอนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งผู้ร้องได้มาโดยสำคัญผิดว่าเป็นคนต่างด้าวจะร้องเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทไม่ได้

ย่อยาว

นายช่องหลั่นหรือเป้า แซ่จัน ยื่นคำร้องว่าเป็นบุตรนายเขียว แซ่จัน ชาติจีน และนางเส่ยสัญชาติไทย ผู้ร้องเกิดที่ตลาดสถานีตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่ออายุ 12 ปี บิดาได้ส่งผู้ร้องไปเรียนหนังสือและการค้าที่ประเทศจีน จนอายุได้ 20 ปี จึงกลับมาอยู่ประเทศไทยอย่างเดิม เมื่อ พ.ศ. 2480 ทางราชการประกาศทำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ผู้ร้องคิดว่าตนเป็นคนจีน จึงไปขอใบสำคัญเป็นคนต่างด้าว บัดนี้รู้สึกว่าได้กระทำไปโดยสำคัญผิด จึงขอให้ศาลไต่สวนแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 และ พ.ศ. 2495 และเบิกถอนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้ร้องเสีย

พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราคัดค้านว่าผู้ร้องมิได้มีสัญชาติเป็นคนไทยตามหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนไทยมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 และ พ.ศ. 2459 มาตรา 7 ให้เพิกถอนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่ 351/2480 เสีย

พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ปรึกษาเห็นว่า ผู้ร้องจะเสนอคดีต่อศาลมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และอ้างคำพิพากษาฎีกา1317/2495 เป็นแบบอย่าง จึงพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องให้ผู้ร้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนพนักงานอัยการตลอดทั้งสองศาล

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะเสนอคดีเช่นนี้ต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 หากผู้ร้องถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิ ก็ชอบที่จะดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิตนเป็นคดีมีข้อพิพาทหาใช่กรณีจะดำเนินคดีไม่มีข้อพิพาทไม่ หรือหากจะถือว่าเป็นเรื่องต้องใช้สิทธิทางศาล ก็ต้องเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องมาขอสิทธิจากศาล คือ ต้องมีกฎหมายสนับสนุนให้ใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนั้นไว้ แต่กรณีที่ผู้ร้องมาร้องขอให้ศาลสั่งแสดงสัญชาติในคดีนี้กฎหมายมิได้ให้สิทธิจะเสนอคดีต่อศาล กรณีทำนองเดียวกันนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยพิพากษามาแล้วตามฎีกาที่ 1317/2495 นายง่วนเส็ง แซ่ซิ้มผู้ร้อง และฎีกาที่ 811/2497 นายการ์ตาร์ซิงห์ ซาบรา ผู้ร้องฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืน

Share