คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มอบพลอยจำนวน 3 หมู่ให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาสูงกว่าก็ได้ เช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายพลอยอย่างเป็นของตนเอง ไม่ใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 3เปอร์เซนต์ของเงินที่ขายได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป การที่จำเลยไม่ยอมคืนพลอยหรือใช้เงินให้โจทก์เป็นเพียงผิดข้อตกลงกัน ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยในทางแพ่ง หาเป็นเรื่องที่มีมูลความผิดในทางอาญาฐานยักยอกไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 และ 353 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 แต่อัตราโทษตามกฎหมายทั้งสองบทเท่ากัน จึงให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 90แต่กระทงเดียว โดยให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘จำเลยรับพลอยของโจทก์ไปขายหรือไม่ และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อแรกโจทก์มีตัวโจทก์และนางจำกัด กลีบแก้วเบิกความว่าโจทก์ได้นำพลอยจำนวน 3 หมู่ ไปฝากให้จำเลยขายกำหนดให้ขายในราคาไม่ต่ำกว่าหมู่ละ 20,000 บาท หากขายไม่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ จำเลยจะต้องนำพลอยไปคืนให้โจทก์ ความดังกล่าวจำเลยก็ยอมรับต่อร้อยตำรวจโทรันดร เรืองเดชา เมื่อวันที่ 25มีนาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ไปแจ้งความกล่าวหาจำเลย และร้อยตำรวจโทรันดรได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยรับว่าได้รับมอบพลอยของโจทก์ไปแล้ว ไม่นำพลอยหรือเงินคืนโจทก์จริง จึงฟังได้ว่าโจทก์มอบพลอยจำนวน 3 หมู่ให้จำเลยไปขายให้จริง ปัญหาข้อต่อไปเห็นว่าโจทก์มอบหมายให้จำเลยขายพลอยให้โดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาสูงกว่าก็ได้ ในลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายพลอยอย่างเป็นของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 3 เปอร์เซนต์ของเงินที่ขายได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปการที่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ยอมคืนพลอยหรือใช้เงินให้โจทก์เป็นเพียงผิดข้อตกลงกันซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยในทางแพ่ง หาเป็นเรื่องมีมูลความผิดในทางอาญาฐานยักยอกดังที่โจทก์ฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share