คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1605/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 49 หามีข้อความแสดงว่าลูกจ้างซึ่งเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้ว จะมิได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัตินี้ไม่ ฉะนั้น แม้ลูกจ้างจะเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้ว หากถูกเลิกจ้างโดยมีพฤติการณ์แสดงว่าไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัตินี้เช่นเดียวกัน
จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า เพราะผู้บังคับบัญชาไม่อาจไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ต่อไปได้ตามข้อบังคับขององค์การจำเลย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุซึ่งไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 จึงมีผลลบล้างเฉพาะคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเท่านั้น ส่วนข้อบังคับขององค์การจำเลยยังคงใช้บังคับได้อยู่ตามเดิม ไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างประจำขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำเลยที่ 11 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การฯจำเลยที่ 10 เป็นผู้อำนวยการฯ และเลขานุการคณะกรรมการฯ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่สำนวนโดยอ้างว่าโจทก์ขัดขวางการบริหารงานของจำเลยที่ 11 ทำให้จำเลยที่ 10ไม่สามารถไว้วางใจโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่ตรงต่อความเป็นจริง สาเหตุในการเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ไม่เห็นด้วยในการบริหารงานของจำเลยที่ 11 ซึ่งมีจำเลยที่ 10 เป็นผู้อำนวยการ เพราะจำเลยที่ 11 กระทำผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการอันมีลักษณะส่อไปในทางทุจริต โจทก์ที่ 1 เห็นว่าถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไปจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติและประชาชนจึงได้รวบรวมหลักฐานส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ คณะกรรมการนี้จึงได้เรียกโจทก์ที่ 2 และเจ้าหน้าที่ขององค์การฯไปทำการสอบสวน โจทก์ที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำไปตามความเป็นจริงทำให้จำเลยที่ 10ไม่พอใจ เข้าใจว่าโจทก์ทั้งสี่ได้ร่วมมือกันเสนอหลักฐานให้แก่คณะกรรมการดังกล่าวจึงได้รายงานเท็จต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ได้ประชุมกันลงมติเลิกจ้างโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสิบเอ็ดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์เพราะไม่มีเหตุที่จะเลิกจ้างได้ ทั้งมิได้มีการสอบสวนหรือดำเนินการตามข้อบังคับก่อน ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติและคำสั่งของจำเลยให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงาน ถ้าหากไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยที่ 11 จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย กับให้จ่ายบำเหน็จประจำปีแก่โจทก์ทั้งสี่จนกว่าจะเกษียณอายุ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ทั้งสี่สำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ปฏิบัติงานผิดกฎหมายและกฎข้อบังคับของจำเลยที่ 11 ไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 11 ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติงานก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 11 โจทก์ที่ 4 หย่อนสมรรถภาพ ไม่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุขัดขวางการบริหารงานของ จำเลยที่ 11ทำให้ได้รับความเสียหาย พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสี่ทำให้จำเลยที่ 10 ไม่สามารถไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงได้นำเรื่องเข้าประชุมในคณะกรรมการฯ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ จำเลยชำระค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ไปแล้ว สินจ้างแทนการบอกล่วงหน้าและค่าเสียหายโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกจากจำเลยและโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จประจำปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างที่จะถือว่าไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 เป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่มีความผิดมาก่อนเลย แต่นายจ้างกลั่นแกล้งเลิกจ้างเสียโดยไร้เหตุผล โจทก์ที่ 1 ที่ 3 เคยกระทำความผิดร่วมกันจนถูกจำเลยที่ 11 ลงโทษภาคทัณฑ์มาแล้ว ชวนให้จำเลยที่ 11 เข้าใจว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ไม่สุจริต แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จึงเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยที่ 11 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม สำหรับการเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ที่ 4เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ที่ 2 ยังสามารถทำงานให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 11ได้ ชอบที่จะให้จำเลยที่ 11 รับโจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงานต่อไป ส่วนโจทก์ที่ 4 มีคุณวุฒิไม่ตรงตามตำแหน่งที่ว่าง ควรเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 11 ใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับโจทก์ที่ 4 ได้พิพากษาให้จำเลยที่ 11 รับโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง ส่วนโจทก์ที่ 4 ให้จำเลยที่ 11 รับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง แต่ถ้าจำเลยที่ 11 เห็นว่าไม่อาจร่วมงานกับโจทก์ที่ 4 และไม่ยอมรับกลับเข้าทำงานตามเดิมก็ให้จำเลยที่ 11 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 4 คำขออื่นของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 นอกจากนี้ให้ยกเสียสำหรับโจทก์ที่ 1 ที่ 3ให้ยกฟ้อง

โจทก์ที่ 1 ที่ 3 กับจำเลยที่ 10 ที่ 11 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไป ฯลฯ” หามีข้อความแสดงว่าลูกจ้างซึ่งเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้วจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัตินี้ไม่ ฉะนั้น แม้ลูกจ้างเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้วหากถูกเลิกจ้างโดยมีพฤติการณ์แสดงว่าไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัตินี้เช่นเดียวกันศาลฎีกาเห็นว่า หากได้ความตามคำให้การว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 3 เนื่องจากมีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฯเห็นว่าไม่อาจไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ การเลิกจ้างนั้นก็เป็นการชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มาตรา 21(1) และข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ว่าด้วยการบรรจุการแต่งตั้ง ฯลฯ ลงวันที่ 2 มกราคม 2518 ข้อ 19(2) และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าได้ความตามฟ้องว่าจำเลยที่ 11 หาได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 3 เนื่องจากมีเหตุสมควร ซึ่งจำเลยที่ 10 เห็นว่าไม่อาจไว้วางใจโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ไม่ แต่เป็นการเลิกจ้างเพราะจำเลยที่ 10 ไม่พอใจโจทก์ในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 10 เป็นฝ่ายผิด การเลิกจ้างนั้นก็ไม่ชอบและถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ได้ร่วมกันกระทำผิดวินัยจนถูกลงโทษภาคทัณฑ์มาแล้วจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ โดยมิได้วินิจฉัยถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางจะต้องเป็นผู้วินิจฉัย จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามนัยที่กล่าวแล้วต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 10 ว่า จำเลยที่ 11 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ที่ 4อ้างว่า เพราะผู้บังคับบัญชาไม่อาจไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ตามข้อบังคับขององค์การฯ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 11 เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 เพราะจำเลยที่ 10 ไม่พอใจโจทก์ที่ 2 ที่ไม่ร่วมมือกับจำเลยที่ 10 ในการกระทำผิดระเบียบและเลิกจ้างโจทก์ที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 10 เห็นว่าโจทก์ที่ 4 เป็นพวกของโจทก์ที่ 3การเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ที่ 4 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 ดังนี้ เห็นได้ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยที่ 10 ที่ 11 และคำพิพากษาที่ให้จำเลยที่ 11 รับโจทก์ที่ 2 ที่ 4 กลับเข้าทำงานก็มีผลลบล้างเฉพาะคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยดังกล่าวเท่านั้น ส่วนข้อบังคับขององค์การฯ ยังคงใช้บังคับอยู่ตามเดิม ไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงหามีผลเป็นการก้าวล่วงหรือลบล้างข้อบังคับขององค์การฯ ไม่

และวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 11 ว่า เมื่อได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยที่ 11 เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 เพราะจำเลยที่ 10 ไม่พอใจโจทก์ที่ 2 ในเรื่องซึ่งจำเลยที่ 10 เป็นฝ่ายผิด และเลิกจ้างโจทก์ที่ 4 เพราะเห็นว่าเป็นพวกของโจทก์ที่ 3 ก็มิใช่เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากจำเลยที่ 10 เห็นว่าไม่อาจไว้วางใจโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ตามอำนาจในข้อบังคับขององค์การฯซึ่งจำเลยที่ 11 อ้างเป็นเหตุเลิกจ้าง จึงจะถือว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ 11 ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมิได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาในส่วนนี้ใหม่ตามนัยที่กล่าวข้างต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share