คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างจะเป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงเหตุของการเลิกจ้างในขณะที่เลิกจ้างเป็นสำคัญเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอ้างเหตุว่าลางานเกิน 30 วันในรอบปี 2 ปีติดต่อกัน ดังนั้น ข้อที่อ้างว่านายจ้างขาดความเชื่อถือในตัวลูกจ้างจึงไม่เป็นเหตุของการ เลิกจ้างที่นายจ้างจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสามขาดงานมาก ไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริง การที่จำเลยนำเหตุการลากิจหรือลาป่วยของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามขาดความขยันหมั่นเพียรในการทำงานโดยลางานมากในปี 2523 และปี 2524 เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติของพนักงานที่สมควรจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบขึ้นเงินเดือนประจำปี เป็นเวลา2 ปีติดต่อกัน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดคุณสมบัติที่สมควรได้รับการพิจารณาความดีความชอบขึ้นเงินเดือนประจำปี 2 ปีติดต่อกัน และจำเลยขาดความเชื่อถือในตัวโจทก์เพราะความประพฤติดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้รับการพิจารณาความดีความชอบเพื่อขึ้นเงินเดือนประจำปี 2524 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ตามระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติงานของพนักงานฯ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่ชอบด้วยระเบียบดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและตามรูปคดีจำเลยกับโจทก์ไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ สมควรให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละ 5 เดือน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งการที่จะถือว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงเหตุของการเลิกจ้างในขณะที่เลิกจ้างเป็นสำคัญ กรณีของโจทก์คดีนี้เหตุของการเลิกจ้างนั้นจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอ้างว่าโจทก์ทั้งสามลางานเกิน 30 วันในรอบปี อันเป็นการขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีสองปีติดต่อกัน ไม่ได้อ้างเหตุว่าจำเลยขาดความเชื่อถือหรือความไว้วางใจในตัวโจทก์ด้วย ฉะนั้น ข้อที่จำเลยอ้างว่าจำเลยขาดความเชื่อถือในตัวโจทก์ จึงไม่เป็นเหตุของการเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้

พิพากษายืน

Share