แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างสะพานตามแบบแปลนต่อท้ายสัญญา โจทก์สร้างสะพานผิดแบบแปลนโดยแจ้งให้จำเลยทราบถึงสาเหตุที่จำเป็นแล้วและวิศวกรของจำเลยก็เห็นด้วย เมื่อกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงแบบแปลนการก่อสร้างได้ตามที่จำเลยเสนอ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้างสะพานผิดแบบแปลน
ตามสัญญาโจทก์จะต้องสร้างสะพานให้แล้วเสร็จและส่งมอบแก่จำเลยภายในวันที่ 27 มีนาคม 2522 เวลา 16.30 นาฬิกา แต่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 5 เมษายน 2522 แจ้งให้โจทก์ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างได้และประธานกรรมการตรวจการจ้างนัดตรวจงานในวันเดียวกันเวลา16.00 นาฬิกา และ ต่อมาจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 12 เมษายน 2522 แจ้งให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างสะพานต่อไปตามสัญญา หนังสือทั้งสองฉบับนี้จำเลยมีถึงโจทก์ภายหลังที่กำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยมิได้กล่าวถึงกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่สิ้นสุดลงแล้ว กลับอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างต่อไปการที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างต่อไปทั้งๆ ที่กำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนายึดถือเอากำหนดเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะปรับโจทก์เพราะโจทก์ก่อสร้างล่าช้าเกินกำหนดเวลา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าปรับคืนบางส่วน โจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่น ทั้งแก้ฎีกาเป็นทำนองว่าพอใจตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้คืนค่าปรับทั้งหมดให้แก่โจทก์ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่วินิจฉัยปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ จำเลยมิได้ยกปัญหาในเรื่องนี้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์จึงถือว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ต้องถือว่าปัญหาเรื่องนี้มิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาเรื่องนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงรับจ้างสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำระยองโดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้าง กำหนดให้แล้วเสร็จในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๒มีข้อกำหนดให้ส่งงาน ๔ งวด เมื่อถึงงวดที่สองซึ่งกำหนดให้ตอกเสาเข็มทั้งหมด หล่อคานยึดหัวเสาเข็มหากความสูงของเสาเข็มมีระยะจากพื้นคลองถึงคานหัวเข็มถึง ๓ เมตร ทั้งนี้เพื่อมิให้เสาเข็มแต่ละต้นไหวตัว แต่เมื่อก่อสร้างแล้วปรากฏว่าระยะจากพื้นคลองถึงคานหัวเข็มมีเพียง ๑.๘๐ เมตร โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อพิจารณาว่าสมควรหล่อคานยึดหัวเข็มหรือไม่ วิศวกรของจำเลยตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่าไม่จำต้องใส่ แต่เพื่อตัดปัญหาจึงได้หล่อคานยึดที่ระยะ ๑.๘๐ เมตร เมื่อโจทก์ส่งงานงวดที่สองคณะกรรมการตรวจการจ้างกลับไม่ยอมรับงานอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามรูปแบบท้ายสัญญาโดยแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ วันรุ่งขึ้นโจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบหรือวินิจฉัยงานตามขั้นตอนและขอระงับการก่อสร้างไว้ ในที่สุดจำเลยขออนุมัติกระทรวงมหาดไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงรายการที่ยึดคานตามสภาพความเป็นจริง และตัดเสาเข็มในแถวที่ ๓ ออกต้นละ ๓.๕๐ เมตร ระหว่างรอผลการพิจารณาจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ต่อมาวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๒๒กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ จำเลยจึงมีหน้าที่ลงวันที่ ๑๒เมษายน ๒๕๒๒ ให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ ระยะเวลาที่หยุดการก่อสร้างนับแต่โจทก์เสนอถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งให้ดำเนินก่อสร้างได้รวม ๕๑ วัน กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างจึงครบวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๒ โจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๒ คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานแล้ว โจทก์ขอรับเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย จำเลยอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้า ปรับตามสัญญาและหักเงินเบี้ยปรับไปจำนวนหนึ่งขอบังคับให้จำเลยชำระเงินเบี้ยปรับคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยทำการก่อสร้างผิดแบบแปลน คณะกรรมการตรวจการจ้างให้แก้ไขให้ถูกต้อง แต่โจทก์ดื้อดึงก่อสร้างต่อ ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ จำเลยจึงขออนุมัติไปยังกระทรวงมหาดไทยเป็นเหตุให้งานล่าช้าไปเพราะความผิดของโจทก์เอง นับแต่จำเลยแจ้งให้ระงับการก่อสร้างโจทก์ยังคงทำงานตลอดมาไม่ได้หยุดงาน เมื่อโจทก์แจ้งให้รับงานคณะกรรมการตรวจการจ้างก็ได้ตรวจรับงานในงวดที่ ๒ หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงแบบแปลนแล้วและตรวจรับงานงวดที่ ๓ ในวันเดียวกัน ก่อนที่จำเลยจะแจ้งเรื่องให้โจทก์เริ่มทำการก่อสร้าง ฉะนั้นการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบแปลนหรือการสั่งให้โจทก์หยุดการกอสร้างจึงไม่เป็นการขยายเวลาแล้วเสร็จตามสัญญา การที่โจทก์ส่งงานงวดที่ ๓ และงวดที่ ๔ หลังกำหนดเวลา จำเลยจึงมีสิทธิปรับตามสัญญา ทั้งคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินค่าปรับบางส่วนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์สร้างสะพานผิดแบบแปลนต่อท้ายสัญญาก็ตาม แต่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสาเหตุที่จำเป็นและฝ่ายจำเลยได้ส่งวิศวกรไปตรวจแล้วก็เห็นด้วย ครั้นโจทก์ส่งมอบงานงวดที่ ๒ คณะกรรมการตรวจการจ้างกลับไม่ยอมรับ ในที่สุดจำเลยได้เสนอเรื่องราวขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้างมายังกระทรวงมหาดไทย เมื่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติจึงมีหนังสือแจ้งอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างได้ จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.๗ ดังนั้นจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้างสะพานผิดแบบแปลน อนึ่ง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๒ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงรายการได้ และประธานกรรมการตรวจการจ้างนัดตรวจงานในวันเดียวกันเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา ปรากฏตามหนังสือลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๒ เอกสารหมาย จ.๗ และต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างสะพานต่อไปตามสัญญา ปรากฏตามหนังสือลงวันที่๑๒ เมษายน ๒๕๒๒ ที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองฉบับนี้เป็นระยะเวลาที่กำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยมิได้กล่าวถึงกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่สิ้นสุดลงแล้วแต่อย่างใด ตรงข้าม จำเลยกลับอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างต่อไป การที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างต่อไปทั้ง ๆ ที่กำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนายึดถือเอากำหนดเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะปรับโจทก์เพราะโจทก์ก่อสร้างล่าช้าเกินกำหนดเวลา
แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับคืนค่าปรับบางส่วนโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่น ทั้งแก้ฎีกาเป็นทำนองว่าพอใจตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้คืนค่าปรับทั้งหมดแก่โจทก์ได้
ที่จำเลยฎีกาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่วินิจฉัยปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อโจทก์อุทธรณ์จำเลยมิได้ยกปัญหาในเรื่องนี้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงถือว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ต้องถือว่าปัญหาเรื่องอายุความมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน