คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16000/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุก 2 ปี และฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำคุก 3 ปี แต่ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ศาลชั้นต้นปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 ซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ให้ถูกต้องเท่านั้น ส่วนโทษคงพิพากษาจำคุก 3 ปี เช่นเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/1, 269/5, 269/6, 269/7, 91, 32, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/1, 269/5, 269/6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/1, 269/4, (ที่ถูก มาตรา 269/4 วรรคแรก) 269/7 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษฐานใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งสิ่งใดๆ อันได้มาโดยรู้ว่าเป็นของที่ทำปลอมหรือแปลงขึ้น ตามมาตรา 269/4 วรรคแรก, 269/7 ตามมาตรา 269/4 วรรคสาม จำคุก 3 ปี เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/1, 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามฟ้องข้อ ก. อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/1 และจำเลยมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมตามฟ้อง ข้อ ข. และจำเลยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมตามฟ้องข้อ ค. อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคแรก นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นผู้ปลอมซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 269/1 ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว” การที่จำเลยปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ กับจำเลยมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมและจำเลยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมดังกล่าว จำเลยมีเจตนาเดียวคือนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมไปใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 จำคุก 2 ปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็น จำคุก 3 ปี เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำคุก 2 ปี และฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำคุก 3 ปี แต่ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ศาลชั้นต้นปรับบทว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 คงแต่ปรับบทว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคแรก ให้ถูกต้องเท่านั้น ส่วนโทษคงพิพากษาจำคุก 3 ปี เช่นเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีบุตรต้องเลี้ยงดู 4 คน จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จำเลยประกอบอาชีพโดยสุจริต พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง เห็นว่า ที่จำเลยนำบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดอันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นทำปลอมขึ้น แล้วนำไปใช้ชำระค่าสินค้าเป็นเงินถึง 10,700 บาท เป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อสุจริตชนและเป็นการบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจโดยรวม พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยถือเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share