คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท และจำเลยยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงภายหลังพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 14 ใช้บังคับแล้ว จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อคดีได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ผู้พิพากษาจะรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว โดยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเอง ขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2183 ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับส่วนแบ่งไปแล้ว โดยตกลงยกที่ดินตามฟ้องให้จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2183 ตำบลซับสมอทอด อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งกันเองหากตกลงกันไม่ได้ ให้เอาที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ขายได้แบ่งกัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจดทะเบียนหย่าขาดจากกันโดยตกลงแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2183ตำบลซับสมอทอด อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ คนละครึ่ง แต่หลังจากนั้นจำเลยไม่ยอมแบ่ง ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับส่วนแบ่งไปแล้วโดยตกลงยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ เป็นการโต้เถียงกรรมสิทธิ์อันเป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534มาตรา 14 ซึ่งในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ใช้บังคับแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับส่วนแบ่งไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่พิพาทอีกนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ คดีได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่จำเลยฎีกาคดีนี้ต่อมาแม้ผู้พิพากษาจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วจึงไม่มีผล ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และยกฎีกาของจำเลย ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share