คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 วรรคแรก กระทงหนึ่งจำคุกคนละ 3 ปี ผิดตามมาตรา 320 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 2 ปีจำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 283,86 กระทงหนึ่ง จำคุก 2 ปีและผิดตามมาตรา 320,86 อีก กระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 283วรรคแรก และมาตรา 320 วรรคสอง ลงโทษตามมาตรา 283 วรรคแรกซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 283 วรรคสุดท้าย 320 วรรคสอง และมาตรา 86 ลงโทษตามมาตรา 283 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 3 ปี จำเลยที่ 4 สองปี ดังนี้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้บท ทั้งโทษที่ลงก็จำคุกไม่เกิน 5 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลย จะฎีกา โต้เถียงว่าไม่ได้กระทำผิดมิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 (อ้าง คำพิพากษาฎีกาที่ 1588/2492 และ 2177/2520)
จำเลยใช้อุบายกล่าวหาโจทก์ร่วมว่ายักยอกทรัพย์เพื่อให้ โจทก์ร่วมจำนนต่อคดีในทางอาญาแล้วจูงใจให้โจทก์ร่วมไปทำงาน ที่ฮ่องกงเพื่อให้มีรายได้และให้พ้นคดีอาญาครั้นโจทก์ร่วมยอมไป ถึงฮ่องกง ก็มีผู้ชายมารับที่สนามบินไปควบคุมตัวไว้ไม่ให้หนี แล้วมีผู้ชายมารับโจทก์ร่วมไปข่มขืนกระทำชำเราตามโรงแรม ต่าง ๆ หลายครั้งดังนี้ เห็นเจตนาของจำเลย ได้ว่า หาได้จัด ส่งโจทก์ร่วมออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อการอย่างอื่นไม่เจตนา แท้จริงก็เพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นประการเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 5 คนกับพวกที่ไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหลายคนได้ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป ชักพานางจ้อยกับนางสมจินต์ไปเพื่อการอนาจารและเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น หน่วงเหนี่ยวกักขังนางจ้อยกับนางสมจินต์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พาและส่งนางจ้อยและนางสมจินต์ออกไปนอกราชอาณาจักร โดยจำเลยได้ร่วมกันขู่เข็ญนางจ้อยกับนางสมจินต์ซึ่งต่างก็เป็นลูกหนี้เงินกู้ของจำเลยว่าหากไม่นำเงินที่ยืมมาส่งคืนทั้งหมดจะแจ้งความดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ พร้อมกับใช้อุบายหลอกลวงแนะนำนางจ้อยและนางสมจินต์ว่า ถ้ากลัวติดคุกก็ให้หนีไปทำงานที่ฮ่องกงมีรายได้สูงเพื่อชำระหนี้แล้วจะไม่แจ้งความดำเนินคดีนางจ้อยกับนางสมจินต์หลงเชื่อและกลัวติดคุกจึงตกลงไปทำงานที่ฮ่องกงตามคำหลอกลวงของจำเลย เมื่อจำเลยจัดหาหนังสือเดินทางให้แล้วระหว่างรอการเดินทาง จำเลยร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังนางจ้อยกับนางสมจินต์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเวลาหลายวัน แล้วจำเลยได้พานางจ้อยกับนางสมจินต์ไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองเดินทางไปฮ่องกง อันเป็นการพาและส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อนางจ้อยกับนางสมจินต์เดินทางไปถึงฮ่องกงแล้ว พวกของจำเลยได้รับตัวนางจ้อยกับนางสมจินต์ไปบังคับและขู่เข็ญขืนใจให้นางจ้อยกับนางสมจินต์ต้องจำยอมรับจ้างกระทำชำเราเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่นหลายครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283, 310, 320, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 10

จำเลยทั้งห้าคนให้การปฏิเสธ

ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางจ้อย นางสมจินต์ผู้เสียหายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก จำคุกคนละ 3 ปีกระทงหนึ่งและมีความผิดตามมาตรา 320 วรรคแรก จำคุกคนละ 2 ปีอีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 คนละ 5 ปี สำหรับจำเลยที่ 4มีความผิดตามมาตรา 283, 86 จำคุก 2 ปี กระทงหนึ่ง และผิดตามมาตรา 320,86 จำคุก 1 ปี 4 เดือนอีกกระทงหนึ่ง รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 4มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน คำขอของโจทก์อื่น ๆ เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ทุกข้อหา

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรกและมาตรา 320 วรรคสอง ลงโทษตามมาตรา 283 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 3ไว้มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 183 วรรคสุดท้ายและมาตรา 320 วรรคสอง และมาตรา 86 ลงโทษตามมาตรา 283 วรรคแรกซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 3 ปี สำหรับจำเลยที่ 4 โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษ จึงให้จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปีเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด

โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ฎีกาและเพิ่มเติมฎีกา ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้บททั้งโทษที่ลงก็จำคุกไม่เกิน 5 ปีเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าไม่ได้กระทำผิดมิได้ ฎีกาของจำเลยต้องห้ามในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1588/2492 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี โจทก์ นายกมลปทุมเวช จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 2177/2520 ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายบุญส่ง เจริญแก้ว จำเลย เหตุนี้ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยในข้อเท็จจริงให้

ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 เป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้น ได้ความว่าเมื่อจำเลยได้ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงโดยวิธีให้โจทก์ร่วมยืมเงินไป แต่แทนที่จะให้ทำหนังสือสัญญากู้เงินกันไว้ กลับให้ทำเป็นหนังสือสัญญายืมจี้เพชร แหวนเพชร แล้วมีการแจ้งความกล่าวหาโจทก์ร่วมว่ายักยอกทรัพย์ที่ได้ทำหนังสือสัญญายืมไว้นั้นเพื่อให้โจทก์ร่วมจำนนต่อคดีในทางอาญา จึงได้มีการพูดจูงใจให้โจทก์ร่วมไปทำงานที่ฮ่องกง เพื่อให้มีรายได้และให้พ้นคดีอาญา ครั้นโจทก์ร่วมยอมไปและได้เดินทางออกไปถึงฮ่องกงก็มีผู้ชายมารับที่สนามบินแล้วควบคุมตัวไว้ไม่ให้หนี แล้วมีผู้ชายมารับโจทก์ร่วมไปข่มขืนกระทำชำเราตามโรงแรมต่าง ๆหลายครั้ง จนถึงกับมีการจดทะเบียนสมรสกับผู้ชายที่ฮ่องกง เช่นนี้เห็นเจตนาของจำเลยได้ว่า หาได้จัดส่งโจทก์ร่วมออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อการอย่างอื่นไม่เจตนาแท้จริงก็เพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นประการเดียว ดังนั้น การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดแต่กรรมเดียว

พิพากษายืน

Share