คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้ต่อธนาคารเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารดังกล่าว และต่อมาจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อนำไปเบิกเงินและไถ่ถอนจำนองที่ดิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ปรากฏว่าขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทโจทก์ยังไม่ถูกธนาคารฟ้องบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินหรือโจทก์ได้ชำระหนี้จำนองแล้ว ทำให้ขณะนั้นจำเลยยังไม่มีหนี้ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยฉะนั้น การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยที่ยังไม่มีหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 แม้โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์จำนวน 2 แปลง ไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)สาขาสกลนคร เพื่อประกันหนี้ของจำเลยในวงเงิน 760,000 บาท โดยจำเลยจะไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี ต่อมาประมาณต้นเดือนมกราคม 2537 จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสกลนคร ลงวันที่ 14 มกราคม 2537 สั่งจ่ายเงินจำนวน 800,000 บาทให้แก่โจทก์เพื่อเบิกเงินมาไถ่ถอนจำนองที่ดินโจทก์ดังกล่าวเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2537 โดยเหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถได้รับเงินตามเช็ค จึงไม่สามารถไถ่ถอนจำนองที่ดินของโจทก์ดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลย 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3450 และ 3451 ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ไว้ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสกลนคร จำนวนเงิน 760,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารดังกล่าว ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2537 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารเดียวกับจำนวนเงิน 800,000 บาทให้แก่โจทก์เพื่อนำไปเบิกเงินและไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงนั้น แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างเหตุ “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” เพราะจำเลยไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามบันทึกรายการบัญชีของจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ได้ถูกธนาคารดังกล่าวฟ้องบังคับจำนอง คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี และคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยโจทก์ฎีกาฝ่ายเดียว ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น แต่จากข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติข้างต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นปรับบทกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏเสียก่อนโดยเห็นว่า ขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท โจทก์ยังมิได้ถูกธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยฟ้องบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินทั้งสองแปลงหรือโจทก์ได้ชำระหนี้จำนองให้แก่ธนาคารแล้ว ณ ขณะนั้นจำเลยไม่มีหนี้ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลย อันเนื่องจากโจทก์ถูกธนาคารบังคับชำระหนี้แทนจำเลย ฉะนั้น เมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยยังไม่มีหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share