คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1591/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ จำเลยที่ 1 และทายาทอื่นครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ทายาทโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์ย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเทศและนางตุ่น กลิ่นกมล ซึ่งบิดามารดาถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อปี 2513 ขณะนายเทศมีชีวิตอยู่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ (ส.ค.1) เลขที่ (61) 59 เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา นายเทศมีบุตร 6 คน คือ จำเลยที่ 1 นางตื่ม สุขเจริญ หรือกลิ่นกมล นางแถม ภักดีจอหอหรือกลิ่นกมล โจทก์ นายเจริญ กลิ่นกมล และนายจำรัส กลิ่นกมล ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของนายเทศคนละส่วนเท่าๆ กัน เมื่อปลายปี 2513 หลังจากนายเทศถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์และทายาทอื่นได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สำหรับที่ดินดังกล่าว โดยให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ว่าจะแบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น 6 ส่วน ให้แก่ทายาทของนายเทศทุกคนรวมทั้งโจทก์คนละส่วนเท่าๆ กันในภายหลัง จนนายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59 ให้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่แบ่งที่ดินมรดกดังกล่าวให้โจทก์และทายาทอื่นของนายเทศ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2540 โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสี่ได้สมคบกันฉ้อกลโจทก์ โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวไปจดทะเบียนแบ่งโอนให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาโดยแบ่งแยกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 619 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นน้องของจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงเลขที่ 619 ด้วยจากนั้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59 ส่วนที่เหลือประมาณ 8 ไร่ 96 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสี่นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59 และ 619 แบ่งให้โจทก์หนึ่งในหกส่วนของที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าว หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำไปประมูลหรือขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งปันแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายเทศ กลิ่นกมล ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ขณะที่นายเทศมีชีวิตอยู่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมส่งมอบแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ให้โดยบอกให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่นางบุญ กลิ่นกมล นายหลุย กลิ่นกมล และนายเขียว กลิ่นกมล พี่น้องของนายเทศด้วย จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมาปี 2513 นายเทศได้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงไปขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่59 เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา และได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทโอนให้นางแก้ว เลี่ยงจอหอ ซึ่งเป็นบุตรของนายบุญ กลิ่นกมล ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 618 ซึ่งรวมทั้งที่ดินส่วนที่นายหลุย กลิ่นกมล จะได้รับ 7 ไร่เศษ ด้วยเพราะนายหลุยได้ขายส่วนของตนให้นางแก้วขณะโอน จึงทำให้ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา และในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนายเขียวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 619 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59 เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 96 ตารางวา จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนยกให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนายเทศ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินดังกล่าวโดยสุจริต โจทก์ก็ทราบดีไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายวนิชย์ หนูโคกสูง ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59 และ 619 ให้แก่โจทก์หนึ่งในหกส่วนของแต่ละแปลง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกประมูลกันเอง หากประมูลไม่ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาแบ่งให้โจทก์หนึ่งในหกส่วนกับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายเทศ กลิ่นกมล เจ้ามรดกเป็นบุตรของนายเกิดและนางช่วย กลิ่นกมล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือ นางบุญ กลิ่นกมล นายหลุย กลิ่นกมล และนายเขียว กลิ่นกมล โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายเทศ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของนายเขียว ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทเดิมมีหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ (61) 59 ตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา เป็นของนายเกิดและนางช่วย หลังจากนายเกิดและนางช่วยถึงแก่ความตาย นายเทศได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2513 นายเทศถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทตกเป็นมรดกของนายเทศ จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 31 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2515 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทโอนให้แก่นางแก้ว เลี่ยงจอหอ ซึ่งเป็นบุตรของนางบุญพี่สาวของนายเทศ เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนายเขียวพี่ชายนายเทศ เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนนิติกรรมใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ให้มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 219 สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 8 ไร่ 90 ตารางวา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรสาว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นและฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่ จำเลยที่ 1 อ้างว่านายเทศซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เข้าทำนาในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งขณะนั้นนายเทศยังมีชีวิตอยู่และหลังจากนายเทศถึงแก่ความตายแล้วจำเลยที่ 1 ก็เข้าทำนาในที่ดินพิพาทเรื่อยมาอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ก่อนนายเทศถึงแก่ความตาย และหลังจากนายเทศถึงแก่ความตายแล้วก็ได้ครอบครองตลอดมา แต่จำเลยที่ 1 ก็ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่าก่อนออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ก็ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย แต่หลังจากออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วโจทก์ก็ไม่ได้เข้าไปอีกซึ่งการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทำหลังจากนายเทศถึงแก่ความตายแล้ว อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าหลังจากนายเทศถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ก็ยังเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย แม้จะได้ความต่อมาว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทแล้วโจทก์ไม่ได้เข้าทำนาในที่ดินพิพาทอีก มีเพียงแต่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นผู้ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาท ซึ่งในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวนั้น นายเจริญ กลิ่นกมล พี่น้องร่วมบิดามารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำคัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.5 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกถ้อยคำต่อนายอำเภอเมืองนครราชสีมา มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 จะแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็น 6 ส่วน และจะแบ่งให้นายเจริญและพี่น้องทุกคน คนละส่วนเท่ากัน บันทึกดังกล่าวกระทำต่อหน้านายอำเภอนครราชสีมาเป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ตกลงยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทของนายเทศทุกคนซึ่งรวมทั้งโจทก์และนายเจริญด้วย อันเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเทศ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองไว้แทนทายาทคนอื่นโดยจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นทุกคนตามส่วนที่ตนมี ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าก่อนนายเทศถึงแก่ความตาย นายเทศสั่งให้แบ่งที่พิพาทเป็นสี่ส่วนให้แก่ญาติพี่น้องที่บ้านโคกสูงจึงเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้น หลังจากที่นายเทศเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วแม้จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์และทายาทอื่นของนายเทศ แม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใดเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเทศคนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนายเทศในส่วนของตนได้ ฟ้องโจทก์หาขาดอายุความไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเทศ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ย่อมขอให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์จึงมีสิทธิขอให้แบ่งที่ดินหนึ่งในหกส่วนจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share