แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยสั่งรถจี๊บ (ไม่มีตัวถัง)34 คันและเครื่องอุปกรณ์จากญี่ปุ่นเสียภาษีศุลกากรสำหรับรถจี๊ปร้อยละ 20 สำหรับเครื่องอุปกรณ์ร้อยละ 25 ของราคา แล้วนำมาประกอบกันเป็นรถนั่งสมบูรณ์จดทะเบียนจำหน่ายไป ซึ่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2478 มาตรา 4 และบัญชีต่อท้ายระบุถึงรถไม่มีตัวถังอัตราอากรตามราคาร้อยละ 20 รถมีตัวถังหรือสมบูรณ์แล้วร้อยละ 50 ดังนี้ เมื่อจำเลยได้เสียภาษีอย่างรถไม่มีตัวถังเป็นการเสียภาษีตามพิกัดอัตราศุลกากรแล้ว พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2479 มาตรา 5 ก็บัญญัติให้เรียกเก็บอากรแก่สิ่งที่นำเข้ามาตามสภาพแห่งของนั้น ณ เวลาที่นำเข้า แต่ที่บัญญัติต่อไปว่า “แต่สิ่งที่สมบูรณ์แล้วหากนำเข้ามาเป็นส่วนๆนั้น จะเรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับสิ่งนั้นเสมือนหนึ่งว่าได้นำเข้ามาโดยประกอบส่วนต่างๆ นั้น เข้าด้วยกันโดยสมบูรณ์แล้วก็ได้” นั้น มีความหมายว่า จะเรียกเก็บก็ได้ หรือจะไม่เรียกเก็บก็ได้ ฉะนั้น จำเลยจะต้องเสียอากรเสมือนสิ่งสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อถูกเรียกเก็บเมื่อยังไม่ถูกเรียกเก็บ จำเลยก็ยังไม่ต้องรับผิดชอบเสียอากรเสมือนสิ่งที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยยังไม่ต้องรับผิดเสียอากรก็ไม่อาจถือว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี
พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2479 มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรอีกชั้นหนึ่ง ที่จะพิจารณาเรียกเก็บภาษี แต่มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่อธิบดีฯ เป็นผู้พิจารณาและชี้ขาดว่าการนำสิ่งของเข้ามาเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นความผิดพระราชบัญญัติศุลกากรหรือไม่ การพิจารณาและชี้ขาดว่าผู้ใดทำผิดและถูกลงโทษหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล