คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้วศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเลยขึ้นตอนของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งใดๆอีกแต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งดังกล่าวโดยมิใช่ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งนั้นเมื่อปรากฎว่าศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้วให้มีหนังสือเปิดผนึกตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอซึ่งก็มีผลเท่ากับให้โอนที่ดินทั้ง4แปลงที่ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อได้จากการขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และตามที่อุทธรณ์แล้วฎีกาข้อนี้ของผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดของจำเลยที่1ไปแล้วและไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านการขายทอดตลาดสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามกฎหมายมีอย่างไรคงมีอยู่อย่างนั้นไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำพิพากษารับรองให้อีกชั้นหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1และที่ 3 ผิดนัด โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพื่อขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้วได้เงินพอชำระหนี้แก่โจทก์โจทก์จึงขอถอนการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ผู้ร้องซึ่งศาลได้อนุญาตให้เฉลี่ยทรัพย์ได้เข้าสวมสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ต่อจากโจทก์ และได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินจำนวน 4 แปลงของจำเลยที่ 3 ได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 91537, 92891,97232 และ 92695 พร้อมสิ่งปลูกสร้างผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ประมูลซื้อได้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2536 ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2536ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินทั้ง 4 แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ไม่ดำเนินการให้ตามที่ผู้ซื้อทรัพย์ร้องขอ ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม2536 ศาลชั้นต้นรับเป็นอุทธรณ์ แต่ไม่ได้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์วันที่ 29 เมษายน 2537 ศาลชั้นต้นนัดพร้อมแล้วมีคำสั่งให้มีหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินตามหนังสือเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่ขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยปลอดการจำนอง วันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ศาลชั้นต้นให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามผู้ซื้อทรัพย์เกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่16 กรกฎาคม 2536 ว่า ผู้ซื้อทรัพย์ติดใจอุทธรณ์หรือไม่ หากไม่แถลงจะถือว่าไม่ประสงค์อุทธรณ์หรือทิ้งอุทธรณ์แล้วแต่กรณีวันที่19 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาใจความว่า ในเมื่อผู้ซื้อทรัพย์ไม่ไปศาลเพื่อให้ศาลสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่ง ถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่ประสงค์ที่จะให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไปยังศาลอุทธรณ์ต่อไป จึงมีคำสั่งปฏิเสธการส่งอุทธรณ์ กรณีไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับอุทธรณ์อีกต่อไปให้ออกหนังสือเปิดผนึกตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ ขอให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง4 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งซื้อได้จากการขายทอดตลาดต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์
ผู้ซื้อทรัพย์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โอนที่ดิน โฉนดเลขที่ 91537, 92891, 97232 และ 92695 แขวงสวนหลวง(คลองประเวศฝั่งเหนือ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร รวม 4 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าศาลได้เคยมีคำสั่งให้ระงับการขายทอดตลาดไว้จึงยังจัดการให้ไม่ได้ ซึ่งเป็นการสั่งไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในขณะที่มีคำสั่งนั้น ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงศาลชั้นต้นว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นการขายตามคำสั่งศาลส่วนคำสั่งที่เคยแจ้งให้งดการขายทอดตลาดนั้นได้สิ้นผลไปแล้วโดยผลคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1ผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นว่า การขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้โอนทรัพย์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องและเจ้าพนักงานบังคับคดีใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจอุทธรณ์ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ และศาลชั้นต้นนัดพร้อมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2537 ถึงวันนัดเจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงว่าได้ดำเนินการขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปแล้ว ขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนที่ดินทั้ง 4 แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายไปตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งศาล เหตุที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นนั้นเป็นขั้นตอนของธุรการ จึงมีคำสั่งให้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ ต่อมาศาลชั้นต้นนัดพร้อมแล้วมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10พฤษภาคม 2537 ว่า การที่ได้มีคำสั่งให้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์นั้น เนื่องจากผู้ซื้อทรัพย์อื่นอุทธรณ์คำสั่งไว้ กรณีอาจเกิดปัญหาได้หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในเรื่องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์เป็นอย่างอื่นจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งต่อการขายทอดตลาดได้ จึงให้นัดพร้อมเพื่อสนองถามผู้อุทธรณ์ว่ายังติดใจยื่นอุทธรณ์หรือไม่ โดยให้มีหมายศาลไปยังโจทก์ จำเลย ผู้ร้อง และผู้ซื้อทรัพย์ และระบุในหมายด้วยว่าหากมีข้อแถลงหรือไม่ติดใจแถลงให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอศาลก่อนวันนัด มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจ ให้ศาลมีคำสั่งไปตามที่เห็นสมควรได้และให้ผู้ซื้อทรัพย์ให้ส่งสำเนาอุทธรณ์แก่คู่ความทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใหม่ใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการหรือแถลงเพื่อขอให้ศาลดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์แล้วจะถือว่าไม่ประสงค์อุทธรณ์หรือทิ้งอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ครั้นถึงวันนัดพร้อม ทนายผู้ร้อง ผู้รับมอบฉันทะจากผู้ซื้อทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีมาศาล ส่วนคู่ความฝ่ายอื่นไม่มา ศาลชั้นต้นได้สอบถามเกี่ยวกับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ที่ยื่นไว้และเกี่ยวกับทรัพย์ที่ซื้อจะดำเนินการอย่างไร แต่ผู้รับมอบฉันทะจากผู้ซื้อทรัพย์ไม่ทราบรายละเอียดจึงแถลงต่อศาลไม่ได้ ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมใหม่โดยกำชับผู้รับมอบฉันทะจากผู้ซื้อทรัพย์ว่า นัดหน้าให้ผู้มีอำนาจหรือทนายความมาศาลหากไม่มาหรือไม่สามารถแถลงข้อเท็จจริงได้จะถือว่าไม่ติดใจอุทธรณ์ ครั้งถึงวันนัด วันที่19 สิงหาคม 2537 ผู้ร้องและเจ้าพนักงานบังคับคดีมาศาล ส่วนโจทก์จำเลยและทนายความหรือผู้มีอำนาจของผู้ซื้อทรัพย์ไม่มา ศาลชั้นต้นถือว่าเท่ากับผู้ซื้อทรัพย์ไม่ประสงค์ที่จะให้ศาลดำเนินการต่อไป จึงมีคำสั่งปฏิเสธการส่งอุทธรณ์ กรณีไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับคดีนี้อีกต่อไป ให้ออกหนังสือเปิดผนึกตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ
มีปัญหาวินิจฉัยตามที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้ว ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเลยขั้นตอนของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งใด ๆ อีก แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งดังกล่าวโดยมิใช่ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง ทำให้เป็นปัญหาในทางกฎหมายนั้น เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้วให้มีหนังสือเปิดผนึกตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ ซึ่งก็มีผลเท่ากับให้โอนที่ดินทั้ง 4 แปลง ที่ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อได้จากการขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ตามความประสงค์ของผู้ซื้อทรัพย์และตามที่อุทธรณ์แล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยถึงสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตในการขายทอดตลาด จึงยังไม่เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์ เพราะอาจเป็นเหตุให้ผู้มีส่วนได้เสียในคดีร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ ทั้งคดียังมีปัญหาส่วนที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้งดการขายทอดตลาดอีกด้วยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1ไปแล้ว และไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านการขายทอดตลาดสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามกฎหมายมีอย่างไรคงมีอยู่อย่างนั้นไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำพิพากษารับรองให้อีกชั้นหนึ่งพฤติการณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ส่อไปในทางเพื่อประวิงการวางเงินค่าซื้อทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้วางตามคำแก้ฎีกาของผู้ร้องเท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share