คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587-1588/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องข้อ 1 ว่าจำเลยปล้นกระบือโดยใช้ปืนขู่เข็ญจะยิงพวกเจ้าทรัพย์ ระบุการกระทำที่อ้างว่า จำเลยกระทำผิดและระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่เกิดเหตุไว้ด้วย แต่ในฟ้องข้อ 1 นี้โจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยใช้ปืนยิงในการปล้นนี้เลย ต่อมาในข้อ 2 โจทก์จึงบรรยายว่า ในวันเวลาเดียว กันกับฟ้องข้อ 1 เจ้าพนักงานติดตามทันจำเลยกับพวกขณะกำลังไล่กระบือ 5 ตัว ที่จำเลยปล้นไป จำเลยกับพวกใช้ปืนยิงมายังเจ้าพนักงาน ๆ จึงใช้ปืนยิงไปยังจำเลยกับพวกเพื่อป้องกันตัว กระสุนปืนถูกจำเลยบาดเจ็บแต่หลบหนีไปได้ เจ้าพนักงานจึงยึดได้กระบือ 5 ตัวเป็นของกลางและได้กระบือในที่ใกล้เคียงอีก 5 ตัว ถือว่าฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่ฟ้องที่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามวรรค 4 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 คือใช้ปืนยิงในการปล้น

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องมีข้อหาต้องกันว่า จำเลยกับพวกรวม ๖ คนมีปืน มีด ไม้ตะบอง ปล้นทรัพย์ไปหลายอย่าง ขอให้ลงโทษ กับให้ใช้ทรัพย์
จำเลยทั้งสามปฏิเสธ ระหว่างสืบพยานโจทก์ นายเยนจำเลยให้การใหม่ว่า ได้ต้อนกระบือไปจริง แต่ไม่ได้ขู่หรือทำร้ายผู้ใด
ศาลชั้นต้นฟังว่า นายเยนจำเลยทำผิดจริงดังฟ้อง ส่วนนายบุญมี นายอินทร์ จำเลยพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่าได้กระทำผิดด้วย พิพากษาว่านายเยนจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ จำคุก ๒๐ ปี จำเลยรับมีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑๐ ปี ให้คืนหรือใช้ทรัพย์ราคา ๑๕ บาท ปล่อยนายบุญมีนายอินทร์จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นายบุญมีนายอินทร์จำเลยได้ร่วมกระทำผิดด้วย แต่การกระทำของจำเลยไม่ต้องด้วยวรรค ๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ เพราะการปล้นสำเร็จขาดตอนเสร็จสิ้นไปแล้ว นายบุญมีนายอินทร์ยิงเจ้าพนักงานไม่เกี่ยวกับการปล้นแต่อย่างใด และไม่มีเหตุที่จะแก้ไขข้อที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้นายเยนกึ่งหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๒ ให้จำคุกคนละ ๑๒ ปี เฉพาะนายเยนจำเลยลดโทษกึ่งคงจำคุก ๖ ปี ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑๕ บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ นายบุญมีนายอินทร์จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังว่านายบุญมีนายอินทร์จำเลยทำผิดจริง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ เพราะได้ใช้ปืนยิงในการปล้นทรัพย์ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนบรรยายข้อความต้องกันในข้อ ๑ ว่าจำเลยปล้นกระบือโดยใช้ปืนขู่เข็ญจะยิงพวกเจ้าทรัพย์ ระบุการกระทำที่อ้างว่า จำเลยกระทำผิดและระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่เกิดเหตุไว้ด้วย แต่ในฟ้องข้อ ๑ นี้โจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยใช้ปืนยิงในการปล้นนี้เลย ต่อมาในข้อ ๒ โจทก์จึงบรรยายว่า ในวันเวลาเดียว กันกับฟ้องข้อ ๑ เจ้าพนักงานติดตามทันจำเลยกับพวกขณะกำลังไล่กระบือ ๕ ตัว ที่จำเลยปล้นไป จำเลยกับพวกใช้ปืนยิงมายังเจ้าพนักงาน ๆ จึงใช้ปืนยิงไปยังจำเลยกับพวกเพื่อป้องกันตัว กระสุนปืนถูกจำเลยบาดเจ็บแต่หลบหนีไปได้ เจ้าพนักงานจึงยึดได้กระบือ ๕ ตัวเป็นของกลางและได้กระบือในที่ใกล้เคียงอีก ๕ ตัว ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ฟ้องข้อ ๒ นี้มิใช่ฟ้องที่บรรยายการกระทำอันโจทก์ถือว่า เป็นความผิด เพราะไม่ได้อ้างว่า เหตุเกิดที่ไหน ห่างไกลกับที่ปล้นกระบือตามข้อ ๑ อย่างไร ทั้งไม่ได้บรรยาย ว่าจำเลยยิงเพื่อเหตุประการใดประการหนึ่ง ดังระบุไว้ในมาตรา ๓๓๙ ข้อใดข้อหนึ่ง เหมือนเช่นที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในฟ้องข้อ ๑
จึงไม่ใช่คำบรรยายโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามความในข้อ ๒ นี้ ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่เป็นฟ้องที่จะลงโทษตามวรรค ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ได้ ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share