คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในเรื่องบำเหน็จตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ นั้น เป็นเรื่องของรัฐให้สิทธิแก่ทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะโดยตรงที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ และยังกำหนดอายุของบุตรที่จะได้รับบำเหน็จตกทอดไว้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดมิได้ให้เป็นสิทธิเป็น ทรัพย์แก่ข้าราชการผู้ได้รับบำนาญปกติอยู่ก่อนตายหรือในขณะที่ถึงแก่ความตายแต่อย่างใด แตกต่างกับกฎหมายว่าด้วยมรดก จึงจะปรับให้เป็นมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายพันธ์ จงมี เป็นข้าราชการบำนาญสังกัดกรมสามัญศึกษาได้ถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้สืบสันดานของนายพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๗ นางเผื่อมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จตกทอดของผู้ตาย แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของนายพันธ์ และให้จำเลยจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่โจทก์
จำเลยให้การว่านายพันธ์ไม่เคยรับรองว่าโจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด
ก่อนสืบพยาน นางเรน จงมี ในฐานะส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมของนายทวีวัฒน์ จงมี บุตรผู้เยาว์ร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กชายพีระพงษ์ จงมี มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดของนายพันธ์ จงมี ตามกฎหมายให้จำเลยจ่ายบำเหน็จตกทอดให้
จำเลยที่ ๑, ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า บำเหน็จตกทอดเป็นมรดกหรือไม่
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๔๙ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ มีความว่า “ภายใต้บังคับ มาตรา ๓๘ ผู้ได้รับบำนาญตามปกติอยู่ ฯลฯ ถึงแก่ความตาย ให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดให้แก่บุคคลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔ ฯลฯ แต่บุตรซึ่งมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์แล้วในวันที่ข้าราชการผู้นั้นตาย ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอด เว้นแต่กำลังศึกษาในชั้นเตรียมอุดมศึกษาหรือชั้นอุดมศึกษาหรือชั้นการศึกษาที่ทางราชการรับรองให้เทียบเท่าและยังมีอายุไม่เกินยี่สิบหกปีบริบูรณ์หรือเว้นแต่เป็นบุคคลที่พิการถึงทุพพลภาพ” และมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ บุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดได้แก่ทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องบำเหน็จตกทอดนั้นเป็นเรื่องของรัฐให้สิทธิแก่ทายาทหรือผู้อุปการะ หรือผู้อยู่ในอุปการะโดยตรงที่จะได้รับเงินช่วยเหลือและยังกำหนดอายุของบุตรที่จะได้รับบำเหน็จตกทอดไว้เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น หาได้ให้เป็นสิทธิเป็นทรัพย์แก่ข้าราชการผู้ได้รับบำนาญปกติอยู่ก่อนตายหรือในขณะที่ถึงแก่ความตายอย่างไรไม่แตกต่างกับกฎหมายว่าด้วยมรดก จะปรับให้เป็นมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๐ ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ได้ฟ้องของโจทก์จึงไม่มีมูลที่จะอ้างอิงตามกฎหมายได้ ฎีกาข้ออื่นของโจทก์นอกจากนี้ไม่เป็นเหตุให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share