แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ขอเพิ่มเติมคำให้การครั้งแรกยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า ที่โจทก์ถอนการอายัดทรัพย์จำเลยที่ 1 เท่ากับยอมให้เปลี่ยนแปลงสภาพหนี้ตามฟ้อง การค้ำประกันจึงเป็นโมฆะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอเพิ่มเติมคำให้การครั้งหลังยกข้อต่อสู้เพิ่มขึ้นใหม่อีกว่า โจทก์ผ่อนเวลา และหลังจากฟ้องแล้วโจทก์ได้รับชำระหนี้จากเงินประกันภัยของจำเลยที่ 1 กับหักหนี้จากเงินขายฝากที่ดินที่โจทก์หรือผู้แทนรับซื้อฝากไว้จากจำเลยที่ 1 หนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับ จำเลยที่ 2ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ข้อที่ขอเพิ่มเติมคำให้การนี้เพราะเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแล้ว โรงงานทอผ้าของจำเลยที่ 1 ถูกเพลิงไหม้ และในวันชี้สองสถานศาลมีคำสั่งอายัดเงินค่าประกันภัยจากบริษัทรับประกันภัย ส่วนการซื้อฝากที่ดินได้กระทำกันภายหลังวันชี้สองสถานแล้ว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้นซึ่งจำเลยไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงมีสิทธิขอเพิ่มเติมคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้เฉพาะเรื่องจำเลยได้ชำระหนี้แล้วก็เป็นการชอบ
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 33-34/2512 และ 1/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่างนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนองไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในวงเงิน 250,000 บาทและ 550,000 บาทตามลำดับ ต่อมาจำเลยที่ 1 ออกเช็คธนาคารกรุงเทพฯ สาขาสำเพ็ง ให้โจทก์ 6 ฉบับ รวมเงิน 819,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 นำมาขายลดไว้กับโจทก์ โจทก์นำเช็คทั้ง 6 ฉบับเข้าบัญชี เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าเงินในบัญชีจำเลยไม่พอจ่าย โจทก์ทวงถามและมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงิน 881,367.15 บาท และดอกเบี้ย ถ้าไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระโดยไถ่ถอนจำนองโดยชำระเงิน 250,000 บาท และ 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ถ้าไม่ไถ่ถอนให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยค้าขายกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ตามฟ้อง ฯลฯ
วันชี้สองสถาน จำเลยที่ 1 ไม่ขอต่อสู้คดีกับโจทก์ และโจทก์ยื่นคำร้องว่า โรงงานทอผ้าพร้อมทั้งเครื่องจักรและโรงงานหล่อดอกยางของจำเลยที่ 1 ถูกเพลิงไหม้ จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยไว้รวม5 บริษัท ขอให้ศาลอายัดเงินไว้ ศาลมีคำสั่งอายัด ต่อมาได้ถอนการอายัดเสียทั้งหมด
เมื่อศาลเริ่มสืบพยานจำเลยตามที่ศาลสั่งให้จำเลยสืบก่อน แต่สืบยังไม่หมด วันที่ 27 พฤศจิกายน 2507 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การความว่า การที่โรงงานทอผ้าของจำเลยที่ 1 ถูกเพลิงไหม้ จำเลยที่ 1มอบหมายให้นายเกียรติวิ่งเต้นช่วยเหลือเจ้าหนี้ลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 และภริยานายหลีจั๊วผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 พ้นข้อหาฐานวางเพลิง ด้วยเหตุนี้โจทก์ฉวยโอกาสนำหมายศาลไปอายัดเงินจากบริษัทการ์เดียนประกันภัย จำกัด ไว้ก่อน จำเลยที่ 1 ภริยา จำเลยที่ 1 หรือนายเกียรติจึงรับเงินเอามาประนอมหนี้ตามที่ตกลงกันไม่ได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 และนายเกียรติจึงไปขอร้องต่อนายกาญจน์และพวกโจทก์ขอให้ถอนการอายัด โดยจำเลยที่ 1ผ่อนใช้หนี้ตามฟ้องให้โจทก์ 300,000 บาท กับนำที่ดินตำบลสำโรงมาขายฝากนายกาญจน์หรือตัวแทนของพวกโจทก์ เป็นเงิน 1,600,000 บาทแต่รับเงินจริงเพียง 900,000 บาทเศษ นอกนั้นโจทก์หักไว้เป็นค่าชำระหนี้รายพิพาท โจทก์ถอนการอายัดทรัพย์จำเลยที่ 1 โดยไม่บอกให้จำเลยที่ 2, 3 ผู้ค้ำประกันทราบ และการที่โจทก์ถอนอายัดเท่ากับยอมให้เปลี่ยนแปลงสภาพหนี้ตามฟ้อง ฉะนั้น การค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำไว้ก็เป็นโมฆะ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด
ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2508 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การอีกว่าสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารโจทก์สาขาสำเพ็ง มีวันชำระหนี้แน่นอน แต่โจทก์ผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์ไม่ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ในเรื่องสัญญากู้กลับมาฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามเช็ค 6 ฉบับ ซึ่งโจทก์หรือผู้แทนในฐานะธนาคารพาณิชย์ไม่มีสิทธิจะรับซื้อเช็คด้วยวิธีลดราคาเพราะฝ่าฝืนและขัดต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ และเป็นการที่ธนาคารโจทก์สาขาสำเพ็งกับจำเลยที่ 1 สมยอมกันโดยไม่สุจริตเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ได้ประนีประนอมกันและได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 โดยได้เงินค่าประกันภัยของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ทั้งโจทก์หรือผู้แทนยังได้หักหนี้ตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 บ้างแล้ว โดยวิธีหักจากเงินที่รับซื้อฝากที่ดิน จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เห็นสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้ตามคำร้องลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2507 และลงวันที่ 21 มกราคม 2508 เฉพาะเรื่องจำเลยได้ชำระหนี้แล้ว
ก่อนที่มีการสืบพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อไป จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงว่า ความจริงจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ของโจทก์ตามฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว คือ หลังจากโจทก์ถอนการอายัดเงินค่าประกันภัย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2507 แล้ว โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ก็ได้ไปขอรับเงินค่าประกันภัยจากบริษัทการ์เดียนประกันภัย จำกัด เป็นเงิน 792,515 บาท เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2507 และโจทก์หรือผู้แทนไปรับเงินค่าประกันภัยจากบริษัทเยนเนอรัลไฟร์แอสชัวรันส์ออฟปารีสฝรั่งเศส จำกัด เป็นเงิน 524,969 บาท เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2507 นอกจากนั้นจำเลยที่ 1ยังมีเงินส่วนเกินจากการขายฝากที่ดินกับนายกาญจน์ 150,000 บาท นายกาญจน์มิได้ชำระให้จำเลยที่ 1 แต่หักไว้เป็นการชำระหนี้ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ปัญหาข้อแรกคือที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เพิ่มเติมคำให้การ เป็นการชอบหรือไม่
ปรากฏว่า ข้อที่ขอเพิ่มเติมคำให้การครั้งแรกตามคำร้อง ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2507 ยกข้อต่อสู้ใหม่ว่า ที่โจทก์ถอนการอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เท่ากับยอมให้เปลี่ยนแปลงสภาพหนี้ตามฟ้อง การค้ำประกันจึงเป็นโมฆะ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ส่วนข้อที่ขอเพิ่มเติมคำให้การครั้งหลังตามคำร้องลงวันที่ 21 มกราคม 2508 ยกข้อต่อสู้เพิ่มขึ้นใหม่อีกว่า โจทก์ผ่อนเวลา และหลังจากฟ้องแล้ว โจทก์ได้รับชำระหนี้จากเงินประกันภัยของจำเลยที่ 1 กับหักหนี้จากเงินขายฝากที่ดินที่โจทก์หรือผู้แทนรับซื้อฝากไว้จากจำเลยที่ 1 หนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ข้อที่ขอเพิ่มเติมคำให้การนี้ เพราะเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแล้ว โรงงานทอผ้าของจำเลยที่ 1 ถูกเพลิงไหม้ และในวันชี้สองสถาน ศาลมีคำสั่งอายัดเงินค่าประกันภัยจากบริษัทรับประกันภัย ส่วนการซื้อขายฝากที่ดินได้กระทำกันภายหลังวันชี้สองสถานแล้ว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้น ซึ่งจำเลยไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงมีสิทธิขอเพิ่มเติมคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้เฉพาะเรื่องจำเลยได้ชำระหนี้แล้ว ก็เป็นการชอบ
ส่วนข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามฟ้องแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ค้ำประกัน ก็หลุดพ้นจากความรับผิด
พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3