แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นายอำเภอสั่งให้ ข. ปลัดอำเภอซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนอกที่ว่าการอำเภอแทนนายอำเภออันเป็นการสั่งตามอำนาจหน้าที่ในทางราชการ ข. จึงมีอำนาจหน้าที่ทำพินัยกรรมตามคำสั่งของนายอำเภอได้ ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายภู่และนางเลี่ยน ชมชาตรี เป็นสามีภริยากันมีบุตรด้วยกัน 7 คนรวมทั้งโจทก์ทั้งสองและจำเลยด้วย ขณะมีชีวิตนายภู่เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า 1 แปลงเนื้อที่ 12 ไร่เศษ แต่ได้แจ้งการครอบครองไว้ 8 ไร่เศษ ตาม ส.ค.1 เลขที่ 104 นายภู่ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2518 โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ใดทายาททุกคนได้ร่วมกันครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา จากการตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินปรากฏว่า หลังจากนายภู่ถึงแก่กรรมจำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินมรดกของนายภู่แปลงดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองแต่ผู้เดียว ซึ่งไม่เป็นความจริง ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส.3)เลขที่ 104 เนื้อที่ 12 ไร่เศษ ให้แก่จำเลย และจำเลยได้จำนองที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการยักยอกที่ดินมรดกของนายภู่มากกว่าส่วนที่ตนมีสิทธิได้รับจึงถูกตัดมิให้ได้รับทรัพย์มรดกของนายภู่ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นมรดกของนายภู่ให้จำเลยชำระหนี้ไถ่จำนองที่ดินจากธนาคารแล้วนำมาแบ่งให้ทายาทของนายภู่ทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสองคนละ 1 ส่วนเท่ากันรวม 6 ส่วน โดยตัดมิให้จำเลยได้รับมรดกส่วนของตน 1 ส่วน
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเดิมเป็นที่ดินมีหลักฐานแจ้งการครอบครองตามแบบส.ค.1 ขณะที่นายภู่ยังมีชีวิตอยู่ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยและจำเลยได้ครอบครองตลอดมาโดยทายาทอื่นไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายภู่อีกต่อไป นอกจากนี้ภายหลังจากที่นายภู่ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยจึงได้ทราบว่านายภู่ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความแถลงร่วมกันว่าให้สืบพยานนายเขตต์ทองสกุล ปลัดอำเภอผู้กระทำการแทนนายอำเภอท่าชนะในขณะทำพินัยกรรมในประเด็นเดียวว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับที่จำเลยอ้างหรือไม่ หากพยานเบิกความว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับดังกล่าวและพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่แท้จริงแล้วโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การจำเลยและโจทก์ยอมแพ้คดี แต่หากพยานเบิกความว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอมแล้วจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยยอมแพ้คดี ปรากฏว่านายเขตต์เบิกความว่าเป็นผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้ผู้ตายและพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่แท้จริง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ในปัจจุบันตกเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเป็นผู้ทำ ถ้าหากนายอำเภอไม่อาจปฏิบัติราชการได้ก็ตกเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้รักษาราชการแทน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2515 ระหว่าง นายพาเกาไศยนันท์ กับพวก โจทก์นางบุญแต่ง เกาไศยนันท์ จำเลย แต่ตามคำเบิกความของนายเขตต์ ทองสกุล ปลัดอำเภอผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่จำเลยอ้าง ปรากฏว่าในวันทำพินัยกรรมดังกล่าวนายอำเภอท่าชนะชื่อนายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยได้ร่วมไปรับเสด็จด้วยกันกับนายเขตต์ นายเขตต์ปลัดอำเภอไม่ได้เป็นผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมที่จำเลยอ้างจึงไม่ใช่พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องแพ้คดีตามคำท้า พิเคราะห์แล้ว นายเขตต์เบิกความว่า “ขณะทำพินัยกรรม พยานรับราชการเป็นปลัดอำเภอท่าชนะ รับผิดชอบงานทะเบียนรวมทั้งการทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองด้วยในเดือนมิถุนายน 2518 จำเลยซึ่งเป็นบุตรชายของนายภู่ ชมชาตรี ได้มายื่นคำร้องว่านายภู่มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองแต่กำลังป่วยอยู่ขอให้พยานไปทำพินัยกรรมที่บ้านนายภู่ ในวันดังกล่าวได้มีเจ้านายพระองค์หนึ่งจะเสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนในท้องที่อำเภอท่าชนะ พยานจึงนัดจำเลยให้พานายภู่ไปพบพยานที่โรงเรียน พยานได้พบนายภู่ที่โรงเรียนต่อหน้ากำนันผู้ใหญ่บ้านได้สอบถามถึงความประสงค์และได้ทำพินัยกรรมให้นายภู่ตามความประสงค์ คือพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองเอกสารหมาย ล.1 แล้วพยานได้นำมาลงทะเบียนไว้ในสมุดที่อำเภอโดยในวันดังกล่าวนายอำเภอได้ร่วมไปรับเสด็จด้วยและนายอำเภอได้มอบหมายให้พยานเป็นผู้ดำเนินการ”เห็นว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นพินัยกรรมที่ทำนอกสถานที่โดยนายเขตต์เป็นผู้แทนนายอำเภอในขณะที่นายอำเภอยังปฏิบัติหน้าที่อยู่นายเขตต์จึงมิได้ทำพินัยกรรมโดยฐานะเป็นผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 จะบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอหรือผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอ เป็นผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามไว้ในที่ใดว่านายอำเภอหรือผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอจะมอบหมายหรือสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดดำเนินการแทนไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายอำเภอได้สั่งให้นายเขตต์ปลัดอำเภอซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนอกที่ว่าการอำเภอแทนนายอำเภออันเป็นการสั่งตามอำนาจหน้าที่ในทางราชการ นายเขตต์ย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำพินัยกรรมตามคำสั่งของนายอำเภอได้ดังนั้น พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่แท้จริงตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441-442/2508 ระหว่าง นางเหมือน ดิดสังข์ โจทก์ นางบุญมีพลอยสัมฤทธิ์ กับพวก จำเลยสมตามคำท้าของจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงเป็นฝ่ายแพ้คดีคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน