แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานีได้วินิจฉัยชี้ขาดและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่วินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลามเรื่องมรดกของศาลดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯ จำเลยจึงมีฐานะเป็นผู้พิพากษา มีอำนาจหน้าที่ที่จะนั่งพิจารณาร่วมกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายนั้นได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นดะโต๊ะยุติธรรม ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในเรื่องสละมรดกของโจทก์ที่ 1 แตกต่างไปจากคำแปลหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกมาตรา 194 วรรค 1 ซึ่งทางราชการกระทรวงยุติธรรมได้จัดทำขึ้น หากจำเลยวินิจฉัยชี้ขาดตามคำแปลดังกล่าว มรดกที่โจทก์ที่ 1 สละ ย่อมตกได้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยข้อวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้โจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยนั้นไม่ได้ ก็เป็นเรื่องกฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไรเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฟ้องของโจทก์จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำหน้าที่เป็นดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในคดีแพ่งเรื่องขอแบ่งมรดกของนางวันมีนะห์ ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือสละมรดกของนางวันมีนะห์ และมิได้มอบหมายให้แก่บุคคลใดภายหลังที่นางวันมีนะห์ถึงแก่ความตายว่า “การสละมรดกมีผลตามกฎหมายทำให้ทรัพย์มรดกที่สละตกเป็นของนางวันมีนะห์ เจ้ามรดก” ซึ่งเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่แตกต่างไปจากคำแปลหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกมาตรา 194 วรรคหนึ่ง ที่ทางราชการกระทรวงยุติธรรมได้จัดทำขึ้น ซึ่งบัญญัติว่า “ทายาทมิยินยอมรับและมิได้สละสิทธิให้แก่บุคคลใด ให้ตกได้แก่บุคคลผู้มีสิทธิในมรดกของทายาทนั้น เสมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นถึงแก่ความตายในเวลานั้น” การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากจำเลยวินิจฉัยชี้ขาดตามคำแปลดังกล่าว มรดกที่โจทก์ที่ 1 สละย่อมตกได้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของโจทก์ที่ 1 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่แต่เพียงวินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลามเท่านั้น ไม่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้พิพากษาที่จะทำหน้าที่พิพากษาคดีได้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานี ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 จำเลยจึงมีฐานะเป็นผู้พิพากษาที่จะนั่งพิจารณาร่วมกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้นได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้วินิจฉัยข้อกฎหมายในเรื่องสละมรดกแตกต่างไปจากคำแปลหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก มาตรา 194 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ และโจทก์อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยนั้นไม่ได้อีกแล้ว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยข้อวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และการที่โจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องกฎหมายวิธีสบัญญัติ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไร เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฟ้องของโจทก์ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
พิพากษายืน