คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15731/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 30 (1) (5) ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะมีบทลงโทษตามมาตรา 63 และ 71 เป็นปุ๋ยอินทรีย์จะมีบทลงโทษตามมาตรา 72/4 ซึ่งมีโทษแตกต่างกัน บทบัญญัติดังกล่าวแยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับปุ๋ยทั้งสองชนิดออกจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ปุ๋ยเคมีที่จำเลยผลิต แม้จะเป็นคนละตรากันแต่จำเลยมีเจตนาเดียว ทั้งจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ไม่ได้ความชัดเจนว่า จำเลยผลิตปุ๋ยดังกล่าวต่างวาระกันอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 3, 4, 12, 21, 21/2, 30, 32, 32/2, 35, 57, 60, 61, 63, 71, 72/4, 72/6 ริบของกลางทั้งหมดให้แก่กรมวิชาการเกษตรเพื่อทำลายเสียหรือจัดการตามที่เห็นสมควร
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 21/2 (1), 30 (5), 72/4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 วรรคหนึ่ง, 61 วรรคสอง, 72/6 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่ได้ขึ้นทะเบียนรวม 4 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 10,000 บาท ฐานมิได้จัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ในที่เปิดเผย ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวมโทษจำคุก 2 ปี 3 เดือน และปรับ 44,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบปุ๋ยมูลค้างคาว จำนวน 100 กระสอบ ปุ๋ยอินทรีย์พลังเทอร์โบ ตรา KK จำนวน 600 กระสอบ ปุ๋ยตราลูกโลกทองคำ จำนวน 300 กระสอบ และปุ๋ยตราลูกสาวชาวไทย จำนวน 130 กระสอบ รวมทั้งสิ้น 1,130 กระสอบ กระสอบปุ๋ยของกลางจำนวน 120,000 ใบ ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเพื่อทำลายเสียหรือจัดการตามที่เห็นสมควร ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 12 (1) (3) วรรคหนึ่ง, 30 (1) (5), 32 (5), 32/2 (5), 35, 57, 63 วรรคหนึ่ง, 71 วรรคหนึ่ง, 72/4 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าปลอม ฐานผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และฐานผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิดฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าปลอม ฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 10 ปี 15 เดือน และไม่ปรับจำเลย (ที่ถูก ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายฐิติพงษ์ นักวิชาการเกษตรได้ร่วมกับร้อยตำรวจโทธนกฤติ รองสารวัตรสืบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันจับกุมจำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทลำพญา เพาเวอร์ เฟอท จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 สถานที่ผลิตจังหวัดนครปฐม พร้อมตรวจยึดปุ๋ยตราปุ๋ยมูลค้างคาว 100 กระสอบ ปุ๋ยอินทรีย์พลังเทอร์โบ ตรา KK 600 กระสอบ ปุ๋ยตราลูกโลกทองคำ 300 กระสอบ และปุ๋ยตราลูกสาวชาวไทย 130 กระสอบ รวมทั้งสิ้น 1,130 กระสอบ เป็นของกลาง นายฐิติพงษ์ได้เก็บตัวอย่างปุ๋ยทั้งสี่ชนิดตามคู่มือการเก็บปุ๋ยเม็ด เพื่อนำส่งห้องปฏิบัติการกรมวิชาการเกษตร สำหรับความผิดฐานมิได้จัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ในที่เปิดเผย ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 30 (1) (5) หากเป็นปุ๋ยเคมีจะมีบทลงโทษตามมาตรา 63, 71 เป็นปุ๋ยอินทรีย์จะมีบทลงโทษตามมาตรา 72/4 ซึ่งมีโทษแตกต่างกัน บทบัญญัติดังกล่าวแยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับปุ๋ยทั้งสองชนิดออกจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ปุ๋ยเคมีที่จำเลยผลิตแม้จะเป็นคนละมาตรากัน แต่จำเลยมีเจตนาเดียว ทั้งจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ไม่ได้ความชัดเจนว่า จำเลยผลิตปุ๋ยดังกล่าวต่างวาระกันอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ก็เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ความผิดฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอมเพื่อการค้า มีอัตราโทษขั้นต่ำ 1 ปี 3 เดือน ตามมาตรา 72/4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 63 วรรคหนึ่ง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 6 เดือน ซึ่งต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์มิได้ฎีกา จึงไม่อาจแก้ไขโทษ เพราะจะเป็นการเพิ่มโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า และฐานผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 12 (1), 30 (1) (5) ประกอบมาตรา 32 (1), 57, 63 วรรคหนึ่ง, 71 วรรคหนึ่ง, เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้าซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่กระทงเดียว จำคุก 5 ปี และมีความผิดฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอมเพื่อการค้า และฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 30 (1) (5) ประกอบมาตรา 32/2 (1), 35, 72/4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 63 วรรคหนึ่ง และมาตรา 71 วรรคหนึ่ง, เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอมเพื่อการค้าซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่กระทงเดียว จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานมิได้จัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ในที่เปิดเผยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 5 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share