คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยโต้แย้งเรื่องที่โจทก์ผู้รับมอบอำนาจ ดำเนินกระบวนพิจารณาซักถามพยานโดยมิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายนั้นเป็นกรณีโต้แย้งคัดค้านเรื่องผิดระเบียบที่มิได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจะต้องบังคับตามมาตรา 27 ดังนั้นจำเลยจึงชอบที่จะยกขึ้นคัดค้านก่อนที่ศาลมีคำพิพากษา เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านประการใด ก็ต้องถือว่ากระบวนพิจารณาที่โจทก์ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไป ไม่มีเรื่องคัดค้าน ในการปฏิบัติผิดระเบียบ และการที่จำเลยเพิ่งจะหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นอุทธรณ์นั้นจึงเป็นการขัดกับบทบัญญัติในมาตรา 27 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดหมายเลขที่ 2570 ตำบลวังบูรพาภิรมย์ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างคือห้องแถวเลขที่ 86 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินนี้ให้โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้เช่า

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2506 จำเลยเช่าห้องแถวเลขที่ 86 นี้จากหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรตั้งร้านตัดผมมีกำหนด 1 ปี ค่าเช่าเดือนละ 112 บาท 50 สตางค์ บัดนี้ครบกำหนดอายุการเช่า และโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยกับบริวารออกจากห้องแถวดังกล่าว และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 112 บาท 50 สตางค์ นับแต่เดือนกันยายน 2507 จนกว่าจำเลยจะออกจากห้องเช่า

จำเลยให้การว่าได้เช่าห้องแถวหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุชมา 10 ปีแล้ว ใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน ก่อนสัญญาเช่าครั้งหลังสิ้นอายุ หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรได้ตกลงให้จำเลยเช่าห้องต่ออีก 3 ปี ได้เรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้าเพิ่มจากที่ต้องชำระเป็นรายเดือนจากจำเลยอีกเดือนละ 400 บาท โดยหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรให้จำเลยทำสัญญากู้เงินจากหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรไว้ 36 ฉบับ ๆ ละ 400 บาท กำหนดชำระหนี้แต่ละฉบับของแต่ละเดือนเป็นเดือนไป จำเลยจึงถือว่าได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรไว้ส่วนหนึ่งแต่ละเดือน เป็นเงินเดือนละ 400 บาท จนถึงปี พ.ศ. 2510 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ผู้รับมอบอำนาจได้ดำเนินกระบวนพิจารณาเองโดยมิได้แต่งตั้งทนายเข้าว่าต่าง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ผู้รับมอบอำนาจ ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นทนายโจทก์ จึงดำเนินกระบวนพิจารณาซักถามพันตำรวจตรีประสิทธิพยานโจทก์มิได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60 วรรคสอง กระบวนพิจารณาเฉพาะในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กระบวนพิจารณาตอนอื่น ๆ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นการใช้สิทธิของตัวความ โจทก์ผู้รับมอบอำนาจย่อมกระทำได้และยังมีผลบังคับอยู่ อย่างไรก็ดีเฉพาะส่วนที่มีผลบังคับได้โดยไม่ต้องนำเอาคำเบิกความของพันตำรวจตรีประสิทธิที่เสียไปมาพิจารณาร่วมด้วยคดีก็ยังฟังได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แต่เดิมทุกประการ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นกรณีโต้แย้งคัดค้านการที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยตรง ฉะนั้นการคัดค้านเรื่องระเบียบเช่นว่านี้จะต้องบังคับตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ปรากฏว่าในวันนัดชี้สองสถานศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า “วันนี้ทนายความทั้งสองฝ่ายมาพร้อมกัน ศาลได้เปรียบเทียบแล้วยังไม่มีทางตกลงกันได้จึงกระทำการชี้สองสถานไป… ฯลฯ …ให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อนฯลฯ..” ซึ่งความจริงในท้องสำนวน ยังไม่มีการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นทนายโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นจดรายงานว่าทนายโจทก์ก็เพราะตัวโจทก์ผู้รับมอบอำนาจมีอาชีพเป็นทนายอยู่แล้ว จึงทำให้เข้าใจผิดหลงไปยอมรับเอาว่าโจทก์ผู้รับมอบอำนาจได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายในคดีนี้แล้ว เช่นนี้จึงต้องถือว่าเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายตามมาตรา 27 วรรคต้น ซึ่งชอบที่จำเลยผู้เสียหายจะได้ยกขึ้นคัดค้านเสียก่อนที่ศาลมีคำพิพากษา ตามความในมาตรา 27 วรรคสอง แต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านประการใด กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่ากระบวนพิจารณาที่โจทก์ผู้รับมอบอำนาจกระทำมา ไม่มีเรื่องคัดค้านในการปฏิบัติผิดระเบียบ ฉะนั้น การที่จำเลยเพิ่งจะหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการขัดกับบทบัญญัติในมาตรา 27 วรรคสอง

พิพากษายืน

Share