แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ค่าป่วยการที่ศาลกำหนดให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม พ.ศ.2555 เทียบได้กับค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ใช่เป็นค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมาย ศาลจะกำหนดค่าป่วยการโดยคำนึงถึงความยากง่าย เวลาและงานหรือตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการทำงานของที่ปรึกษากฎหมาย หาได้เป็นการกำหนดเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่ที่ปรึกษากฎหมายได้ใช้จ่ายไปจริงไม่ และในกรณีคดีมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดไว้สำหรับคดีประเภทนั้น ตามระเบียบคณะกรรมการ บริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กและเยาวชน พ.ศ.2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นและถือเป็นเด็ดขาดจะอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้
ผู้ร้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าป่วยการแก่ผู้ร้องน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับการทำงาน อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายไม่อาจรับวินิจฉัยได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ไม่ถือเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายและเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลย ศาลชั้นต้นแต่งตั้งผู้ร้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลย ระหว่างพิจารณาผู้ร้องไปศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพและซักค้านพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 13 ปีเศษ ว่ากล่าวตักเตือนแล้วมอบตัวจำเลยให้ผู้ปกครองรับไปอบรมดูแล โดยคุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี และสั่งให้จ่ายค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมาย 2,000 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นแต่งตั้งผู้ร้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลยในคดีที่จำเลยถูกฟ้องข้อหาร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุสมควรเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำอนาจารเด็กคนดังกล่าว โดยใช้กำลังประทุษร้ายและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพ และมีคำพิพากษาในวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และเมื่ออ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว ศาลชั้นต้นกำหนดให้จ่ายค่าป่วยการแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 2,000 บาท ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การกำหนดค่าป่วยการของศาลชั้นต้นเป็นอัตราที่ขัดต่อระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ.2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ.2555 และที่ได้แก้ไขโดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 ว่า สำหรับโทษความผิดคดีนี้และเป็นกรณีจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลกำหนด ค่าป่วยการให้แก่ที่ปรึกษาได้ตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 6,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าป่วยการแก่ผู้ร้อง 2,000 บาท จึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ผู้ร้องฎีกาว่า การกำหนดค่าป่วยการของศาลชั้นต้นขัดต่อระเบียบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ.2555 หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่กฎหมายให้อำนาจศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลยซึ่งไม่มีที่ปรึกษากฎหมายนั้น ก็เพื่อให้จำเลยที่ไม่มีรายได้หรือไม่มีความสามารถจะว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายให้มีที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาช่วยเหลือด้านกฎหมายและรักษาผลประโยชน์ของจำเลยในด้านคดีความเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม งานช่วยเหลือแก่จำเลยดังกล่าวนี้ ที่ปรึกษากฎหมายย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจะหวังผลประโยชน์ตอบแทนเหมือนเช่นการว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายโดยทั่วไปไม่ได้ ทั้งที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งก็จะแต่งตั้งจากที่ปรึกษากฎหมายที่สมัครใจอาสาเข้าช่วยเหลือโดยขอขึ้นทะเบียนไว้ มิได้เป็นการบังคับ ส่วนค่าป่วยการที่กำหนดแก่ที่ปรึกษากฎหมายนั้นเทียบได้กับค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง หาใช่เป็นค่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายไม่ ศาลจะกำหนดค่าป่วยการโดยคำนึงถึงความยากง่าย เวลาและงานหรือตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการทำงานของที่ปรึกษากฎหมาย ตามระเบียบที่กำหนดเท่านั้น หาได้เป็นการกำหนดเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่ที่ปรึกษากฎหมายได้ใช้จ่ายไปจริงไม่ ทั้งตามระเบียบข้อ 5 (4) ยังกำหนดว่า ในกรณีที่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา ให้ศาลกำหนดเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กำหนดไว้สำหรับคดีประเภทนั้น ตามระเบียบดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นและย่อมถือเป็นดุลพินิจโดยเด็ดขาด จะอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าว หาได้ไม่ คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดค่าป่วยการให้แก่ผู้ร้อง 2,000 บาท ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นโดยสาเหตุว่าเนื่องจากผู้ร้องได้ร่วมสืบพยานประกอบคำรับสารภาพในคดี และติดตามให้จำเลยนำเงินมาชำระค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยมาร่วมพิจารณาคดี 3 ครั้ง เมื่อเสร็จการพิจารณาศาลชั้นต้นกำหนดค่าป่วยการจำนวน 2,000 บาท แต่เมื่อสรุปเหตุผลในการอุทธรณ์กลับอ้างเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับเหตุในการอุทธรณ์ว่าเป็นอัตราที่ขัดต่อระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กและเยาวชน พ.ศ.2555 โดยไม่มีเหตุผลว่า ขัดต่อระเบียบข้อใด ระเบียบที่ถูกต้องเป็นเช่นใด ที่ถูกต้องศาลชั้นต้นต้องกำหนดค่าป่วยการแก่ผู้ร้องเป็นเงินเท่าใด ซึ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาในคำอุทธรณ์แล้วเห็นได้ชัดว่า การอุทธรณ์ของผู้ร้องมีเจตนาชัดแจ้งว่า เป็นเพราะผู้ร้องเห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าป่วยการแก่ผู้ร้องน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับการทำงาน เวลาและค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องได้เสียไปในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลย หาได้เป็นเพราะศาลชั้นต้นกำหนดค่าป่วยการขัดต่อระเบียบไม่ ดังนั้นอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่อาจรับไว้วินิจฉัยได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ตาม ก็ไม่ถือเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษา ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 และยกฎีกาของผู้ร้อง