คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1568/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์…” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธมิได้ ส่วนการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา 1598/38 ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีเมื่อศาลเชื่อว่าโจทก์และจำเลยก็ยังมีความสามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และแบ่งความรับผิดให้จำเลยชำระค่าอุปการระเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 15,000 บาท เท่ากับคนละ 7,500 บาทต่อเดือนนั้นจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว
ส่วนข้ออ้างว่าจำเลยยกส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอีกนั้น กรณีแบ่งสินสมรสเป็นคนละส่วนกับหน้าที่ของจำเลยในฐานะบิดาที่จำต้องอปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายภัทรภณ อายุ 12 ปี และเด็กหญิงภัทรลภา อายุ 7 ปี อยู่กินด้วยกันที่บ้านเลขที่ 1620 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี แขวงบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เมื่อต้นปี 2552 จำเลยขอไปเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ใกล้กับวิทยาลัยนอร์ธ ซึ่งจำเลยสอนหนังสืออยู่ในขณะนั้น โดยอ้างว่าเลิกงานดึก หลังจากนั้นจำเลยขาดการติดต่อกับโจทก์และไม่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง โจทก์มีรายได้จากค่าเช่าอาคารชุดเดือนละ 20,000 บาท ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว เด็กชายภัทรภณเรียนอยู่ในโรงเรียนเซนต์จอห์นค่าเรียนเทอมละ 38,000 บาท ส่วนเด็กหญิงภัทรลภาเรียนอยู่โรงเรียนอนุบาลดาราทร ค่าเรียนเทอมละ 15,000 บาท และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีก ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองรวมกันเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะหรือสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาหรือเทียบเท่าหรือชั้นสูงสุด
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อปี 2542 โจทก์และจำเลยมีเรื่องทะเลาะกัน และบิดาโจทก์ได้ทำร้ายร่างกายจำเลย โจทก์และจำเลยจึงตกลงแยกกันอยู่โดยได้ทำหนังสือเรื่องทรัพย์สินระหว่างสมรสไว้ด้วย ที่โจทก์อ้างว่ามีรายได้น้อยไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์มีรายได้จากการให้เช่าห้องอาคารชุดจำนวน 14 ห้อง เดือนละประมาณ 60,000 บาท และรายได้จากการประกอบธุรกิจบริษัทอโกรอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น จำกัด เดือนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท รวมแล้วโจทก์มีรายได้เดือนละประมาณ 110,000 บาท ส่วนจำเลยมีรายได้จากการเป็นอาจารย์วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก เดือนละ 19,679 บาท มีภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินจำนวนมาก ไม่อยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ โจทก์เป็นผู้มีฐานะทางการเงินและฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยมากสามารถอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้จากค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นคดีนี้ เพราะโจทก์และจำเลยยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์เดือนละ 15,000 บาท ต่อคน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรแต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์เดือนละ 7,500 บาทต่อบุตรผู้เยาว์แต่ละคน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นผับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยและโจทก์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ 2 คน คือเด็กชายภัทรภณ และเด็กหญิงภัทรลภา จำเลยแยกอยู่กับโจทก์ตั้งแต่ปี 2542 บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่กับโจทก์ตลอดมา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่าจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดหรือไม่ต้องชำระ โจทก์ฎีกาว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาเดือนละ 30,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์อ้างบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 มาตัดทอนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 15,000 บาท เป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยฎีกาว่า จำเลยมีรายจ่ายและหนี้สินมากกว่ารายรับและได้ยกรายได้จากสินสมรสในส่วนของจำเลยให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ในข้อนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์…” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธมิได้ ส่วนการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา 1598/38 ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ข้อเท็จจริงได้ความตามข้อนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า ต่างฝ่ายต่างมีรายรับและรายจ่ายของตนเองโดยโจทก์มีรายรับจากค่าเช่าห้องในอาคารชุดเดือนละประมาณ 28,000 ถึง 30,000 บาท แต่มีรายจ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง โดยเด็กชายภัทรภณเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเซ็นต์จอห์นเสียค่าเล่าเรียนปีละ 2 เทอม เทอมละ 35,000 ถึง 38,000 บาท และค่ากิจกรรมพิเศษเฉลี่ยแล้วเทอมละประมาณ 45,000 บาท ส่วนเด็กหญิงภัทรลภาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 3 โรงเรียนดาราทรเสียค่าเล่าเรียนปีละ 3 เทอม เทอมละ 12,000 บาท และค่ากิจการพิเศษเฉลี่ยแล้วเทอมละประมาณ 10,000 บาท และโจทก์ยังต้องเลี้ยงดูบิดามารดาอีกด้วย ส่วนจำเลยมีรายได้จากการเป็นอาจารย์สอนหนังสือเดือนนะ 19,679 บาท และมีรายได้จากการสอนพิเศษเดือนละประมาณ 3,000 บาท ถึง 4,000 บาท แต่มีรายจ่ายส่วนตัวเดือนละ 5,000 บาท ค่าเช่าที่พักรวมค่าน้ำค่าไฟเดือนละประมาณ 4,800 บาท ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาเดือนละประมาณ 2,000 บาท และมีหนี้สินประมาณ 1,000,000 บาท เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนของจำเลยเกิดจากจำเลยแยกไปอยู่ต่างหากเอง และหนี้สินที่จำเลยก่อขึ้นก็ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เมื่อพิจารณาใบแจ้งยอดบัญชีแล้ว จะเห็นว่าจำเลยสามารถผ่อนชำระหนี้เงินกู้ตามเอกสารดังกล่าวในฉบับแรกชำระไปแล้ว 33 งวด งวดละ 6,298.80 บาท ในฉบับที่สองชำระไปแล้ว 10 งวด งวดละ 9,237.94 บาท จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีรายได้มากกว่าที่อ้างค่อนข้างมาก สำหรับโจทก์แม้จำต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง แต่ยังมีรายได้จากค่าเช่าห้องในอาคารชุดพอนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้แม้โจทก์และจำเลยจะมีภาระในการอุปการะเลี้ยงดูบุพการีด้วยก็ตามแต่ก็เชื่อว่าโจทก์และจำเลยต่างก็ยังมีความสามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ที่ศาลอุทธรณ์แบ่งความรับผิดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 15,000 บาท เท่ากับคนละ 7,500 บาทต่อเดือนนั้น จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ค่าเช่าห้องในอาคารชุดเป็นดอกผลของสินสมรส เมื่อจำเลยมอบให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง เท่ากับจำเลยได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว เห็นว่า ส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยเป็นเหตุคนละส่วนกับหน้าที่ของจำเลยในฐานะบิดาที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามกฎหมายจำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยในข้ออื่นไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยอันเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share