คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้รื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่พิพาทและไม่บังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ขอ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 100 บาทและเดือนต่อ ๆ ไปอีกเดือนละ 2 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนเรือนออกไปจากที่พิพาท ดังนี้เป็นแก้น้อยฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้
ตาม พ.ร.บ. ปกครองคณะสงฆ์ ม. 43 เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาจัดการวัดและสมบัติของวัด จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้เอง หรือจะมอบอำนาจให้ผู้ใดฟ้องความแทนก็ได้
ใบมอบอำนาจท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง การวินิจฉัยเกี่ยวกับใบมอบอำนาจจึงไม่เป็นการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนไปจากฟ้อง (นอกฟ้อง)
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด แม้โจทก์จะนำสืบความเสียหายไม่ได้ว่ามีจำนวนแค่ใดแน่นอน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.พ.พ. ม. 438.
(ฎีกาที่ 1499/2498 และ 1494/2498)

ย่อยาว

คดีนี้วัดไชยชุมพลชนะสงครามมีพระครูวัตตสารโสภณ (ก้าน) เป็นเจ้าอาวาสและศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี โดยนายทวี สุนทรวิภาต รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดเป็นเวยยาวัจจกรและผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ๆ ได้ครอบครองมาประมาณ ๑๐๐ ปี-เศษ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นศาสนสมบัติไว้แล้ว จำเลยได้สมคบกับนายเต็ม นางแก้วไปยื่นคำร้องต่อกรมการอำเภอเมืองว่าที่ดินพิพาทที่ปลูกเรือนเป็นของนายเต็ม นางแก้วจะขายให้จำเลย โจทก์ได้ไปร้องคัดค้านไว้ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้เรียกนายน้อมไปสอบถาม นายน้อมยืนยันว่าได้โอนขายเฉพาะแต่ตัวเรือนให้จำเลย จำเลยก็คงอยู่ต่อมาไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท กระทำให้โจทก์ต้องเสียหายคิดเป็นเงิน ๑๐๐ บาท และเสียหายเป็นรายเดือนต่อ ๆ ไปอีกเดือนละ ๒๐ บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท ให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนออกไปกับใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐ บาทและต่อไปอีกเดือนละ ๒๐ บาทด้วย
จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่เขตที่ของวัด เป็นที่ของนายเต็ม ๆ ได้ทำสัญญากันเองโอนขายให้จำเลย กับตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาอย่างไรและจดทะเบียนเป็นศาสนสมบัติเมื่อใด ทั้งใบมอบอำนาจของโจทก์ทำกันเองไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ทำต่ออำเภอใช้ไม่ได้และโจทก์ควรฟ้องนายเต็มขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าใบมอบอำนาจของโจทก์หาจำเป็นต้องทำต่อหน้ากรมการอำเภอไม่ ส่วนที่โจทก์ไม่ฟ้องนายเต็มนั้นชอบแล้วเพราะจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ และฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทพร้อมทั้งรื้อเรือนออกไป ส่วนค่าเสียหายโจทก์มิได้นำสืบจึงไม่บังคับให้
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเรื่องค่าเสียหายนั้นฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ๆ จึงควรได้รับค่าเสียหายตามสมควร ปัญหานอกนั้นเห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษามาชอบแล้ว จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้จำเลยทั้ง ๒ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง ๒ ศาล กับค่าทนายทั้ง ๒ ศาลเป็น ๑๐๐ บาทแทนโจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐ กับอีกเดือนละ ๒ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนเรือนออกไปจากที่พิพาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยทั้ง ๒ ฎีกาต่อมา โดยศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาอ้างว่าศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้รื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่พิพาทของโจทก์และไม่บังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐ บาทตามที่โจทก์ขอ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐ บาทและเดือนต่อ ๆ ไปอีกเดือนละ ๒ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนเรือนออกไปจากที่พิพาทแก่โจทก์เช่นนี้เป็นการแก้ไขน้อย ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙๙/๒๔๙๘ จำเลยจึงฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่ในฎีกาของจำเลยข้ออื่นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอยู่ด้วย และในการวินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีนี้ ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามมาตรา ๒๓๘,๒๔๗ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๙ แห่ง ป.วิ.แพ่ง
เรื่องใบมอบอำนาจนั้นเห็นว่ามาตรา ๔๓ แห่ง พ.ร.บ. ปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาจัดการวัดและสมบัติของวัด จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้เองอยู่ในตัวหรือจะมอบอำนาจให้ผู้ใดฟ้องคดีแทนก็ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ศาลอุทธรณ์ฟังมาแล้วว่าตามใบมอบอำนาจหมาย ๑ เป็นการมอบให้บุคคลเป็นโจทก์ฟ้องแทน ไม่เป็นการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนกับคำฟ้องของโจทก์ เพราะเอกสารใบมอบอำนาจหมาย ๑ ท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องอยู่ในตัว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนเรื่องค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องนั้นจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ประการใดเลย เมื่อฟังว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะนำสืบความเสียหายไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าใดแน่นอน ตามกฎหมายศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามที่เห็นสมควรตามมาตรา ๔๓๘ แห่งประมวล ก.ม.แพ่งฯ ตามฎีกาที่ ๑๔๙๔/๒๔๙๘ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.

Share