แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ปรากฏแต่ลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์ฟ้องเท่านั้น ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7)และการที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่งนั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นจนคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นประการอื่นนอกจากพิพากษายกฟ้องโจทก์ และมาตรา 161 ก็หาได้เป็นบทบัญญัติซึ่งมิได้กำหนดระยะเวลาให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องเสียเมื่อใดก็ได้ก่อนคดีถึงที่สุดไม่ ทั้งปัญหาว่าฟ้องโจทก์ที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 4 เม็ด น้ำหนัก 0.360 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลางซึ่งหมดไปในการตรวจพิสูจน์ ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2544 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2544 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่าการที่โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้องเป็นความผิดพลาดที่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ และโจทก์ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงแล้วประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 มิได้กำหนดระยะเวลาว่า ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องเมื่อใด เมื่อคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด จึงยังอยู่ในวิสัยที่ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” ตามฟ้องโจทก์คงปรากฏแต่เพียงลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์ฟ้องเท่านั้น ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(7) และการที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่งนั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นจนต่อมาคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นประการอื่นนอกจากต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 หาได้เป็นบทบัญญัติซึ่งมิได้กำหนดระยะเวลาให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องเสียเมื่อใดก็ได้ก่อนคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านในประเด็นที่โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้องดังกล่าว เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์จริงนั้นปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เนื่องจากไม่มีลายมือชื่อโจทก์นั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน