คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า นอกจากจำเลยจะให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ดังนี้เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ส่วนใดด้วยเหตุผลอย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์
กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมสัญญาประกันภัยไว้ เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้
สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน แต่ก็มิได้หมายความว่ามีข้อสัญญาอยู่เฉพาะในคำเสนอและคำสนองที่ทำเป็นหนังสือเท่านั้นเพราะถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อย่างใดที่กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้รับประกันภัยต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยอีกในเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออยู่แล้ว
กรมธรรม์ประกันภัยคือหลักฐานเป็นหนังสือเกี่ยวกับข้อสัญญาและเงื่อนไขการประกันภัย.ซึ่งผู้รับประกันภัยลงลายมือชื่อมอบให้ไว้แก่ผู้เอาประกันภัย
การตีความสัญญาจะต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย เมื่อปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยเคยส่งนมข้นกระป๋องไปจำหน่ายยังต่างประเทศมาแล้วหลายครั้งโดยเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ กรมธรรม์ประกันภัยครั้งพิพาทกับครั้งก่อน ๆนั้นมีข้อความเหมือนกันว่าการประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่เวลาออกจากสถานที่ของผู้ตราส่งดังนั้น เมื่อนมข้นกระป๋องที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายขณะขนลงเรือลำเลียงเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่เรือเดินทะเลจึงอยู่ในขอบเขตแห่งความรับผิดของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยเมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วโจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยถ้าหากมี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยการขนส่งสินค้านมข้นกระป๋องของบริษัท อ.บริษัท อ. ได้จ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ทำการขนสินค้าลงเรือลำเลียงด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้เรือลำเลียงล่มสินค้าเสียหายเป็นเงิน 1,970,102.98 บาท โจทก์ได้ชำระเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้บริษัท อ. ไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า นอกจากจำเลยจะให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้วจำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ความเสียหายเกิดขึ้นก่อนโจทก์ทำสัญญารับประกันภัยโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินตามฟ้องและไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยจำเลยที่ 3 มิได้ประมาท เรือลำเลียงล่มเพราะเหตุสุดวิสัย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2521บริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด ได้ยื่นคำขอประกันภัยทางทะเลต่อโจทก์เพื่อประกันภัยนมข้นกระป๋องที่จะขนส่งจากกรุงเทพฯ ไปประเทศศรีลังกา โจทก์ได้ตอบรับประกันภัยในวันนั้นและได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2521โดยคิดเบี้ยประกันภัยเริ่มจากคลังสินค้าของผู้เอาประกันภัยถึงคลังสินค้าของผู้ซื้อในวันที่ 31 ตุลาคม 2521 เวลาหลังจากโจทก์รับประกันภัยแล้วเรือลำเลียงที่บริษัทผู้เอาประกันภัยจ้างให้ขนนมข้นกระป๋องไปส่งเรือเดินทะเลได้จมลง โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ปัญหาว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ เห็นว่า ระหว่างโจทก์กับบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนครจำกัด ผู้เอาประกันภัย ไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความรับผิดของโจทก์ตามสัญญาประกันภัย โดยโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จำเลยเองก็มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นว่าตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด ไม่คุ้มครองนมข้นกระป๋องที่เอาประกันภัยตั้งแต่คลังสินค้าของผู้เอาประกันภัยจนถึงผู้รับตราส่ง เพียงแต่ต่อสู้ว่าโจทก์ทำกรมธรรม์รับประกันภัยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 ความเสียหายเกิดก่อนโจทก์ทำสัญญารับประกันภัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิ แม้จำเลยจะให้การว่านอกจากจำเลยจะให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้นก็เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ส่วนใดด้วยเหตุผลอย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับขอบเขตการให้คุ้มครองตามสัญญาประกันภัยแต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียด้วยว่า สัญญาประกันภัยนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกันเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด ได้ยื่นคำขอประกันภัยต่อโจทก์อันเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอและโจทก์ได้สนองรับ สัญญาประกันภัยย่อมเกิดขึ้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคสอง บัญญัติว่า”ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง” กรมธรรม์ประกันภัย ก็คือเอกสารในการรับประกันภัย หรือหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งผู้รับประกันภัยลงลายมือชื่อมอบให้ไว้แก่ผู้เอาประกันภัยเกี่ยวกับข้อสัญญาและเงื่อนไขการประกันภัย แม้บริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด กับโจทก์จะได้ทำคำขอประกันภัยและคำตอบรับประกันภัยเป็นหนังสือ ก็มิได้หมายความว่าสัญญาประกันภัยมีข้อความอยู่เพียงเท่านั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อย่างใดที่กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้รับประกันภัยต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยอีกในเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออยู่แล้ว นอกจากนี้ตามคำขอประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.10 ยังมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า “โปรดออกรมธรรม์ประกันภัยต้นฉบับ คู่ฉบับ 3 ฉบับและสำเนาชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ 5 สำเนา” ซึ่งแสดงว่าคู่สัญญามีเจตนาให้สัญญาประกันภัยมีข้อความเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำขอประกันภัยเป็นสัญญาประกันภัย และกรมธรรม์ประกันภัยต้องมีข้อความดังที่ปรากฏในคำขอประกันภัย แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด ขอให้โจทก์รับประกันภัยสำหรับสินค้าที่บรรทุกลงเรือโกตาเมเลอร์แล้วเท่านั้น การที่โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองเริ่มต้นตั้งแต่เวลาออกจากสถานที่ของผู้ตราส่งด้วย เป็นเรื่องที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวฝ่าฝืนมาตรา 867 วรรคสอง จะนำเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวมาใช้เพื่อก่อให้โจทก์เกิดสิทธิย้อนหลังไปรับช่วงสิทธิของบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนครจำกัด ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยจริงอยู่สัญญาประกันภัยรายนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2521 เวลาประมาณ 11.30 นาฬิกา ซึ่งโจทก์ตอบรับคำขอประกันภัยของบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด และโจทก์เพิ่งออกกรมธรรม์ประกันภัยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 แต่กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ออกให้นั้นบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด ผู้เอาประกันภัยก็ยอมรับว่าตรงตามเจตนาในการทำสัญญาประกันภัยโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านประการใด ทั้งยังได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาไปแล้วด้วยย่อมไม่มีเหตุที่จะอ้างว่าโจทก์ทำกรมธรรม์ประกันภัยฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคสอง อนึ่ง ข้อความตามคำขอประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.10 ที่ว่า “โปรดให้มีการประกันภัยทางทะเลคุ้มถึงสินค้าที่ระบุไว้ข้างล่างนี้ ดังได้บรรทุกลงรือโกตาเมเลอร์ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางวันที่ 4/11/21 จากกรุงเทพฯ ถึงโคลัมโบ” นั้นก็ยังไม่ชัดแจ้งว่าบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด ประสงค์จะขอให้โจทก์รับประกันภัยสำหรับสินค้าที่บรรทุกลงเรือโกตาเมเลอร์แล้วเท่านั้น ในการตีความสัญญาจะต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย บริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด มิใช่เพิ่งจะเอาประกันภัยกับโจทก์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกแต่เคยส่งนมข้นกระป๋องไปจำหน่ายยังต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง และได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เช่นเดียวกัน กรมธรรม์ประกันภัยครั้งก่อน ๆ ก็เหมือนกับกรมธรรม์ประกันภัยครั้งนี้ ย่อมเป็นเหตุผลชี้ให้เห็นว่ากรมธรรม์ประกันภัยรายนี้ได้ออกให้ตรงตามเจตนาในการทำสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด แล้วหาเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.14 ระบุว่า การประกันภัยรายนี้เริ่มต้นตั้งแต่เวลาออกจากสถานที่ของผู้ตราส่ง ซึ่งหมายความถึงคลังสินค้าของบริษัทอุตสาหกรรมนมพระนคร จำกัด ผู้เอาประกันภัย การที่นมข้นกระป๋องที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายระหว่างขนส่งลงเรือลำเลียงเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่เรือเดินทะเลโกตาเมเลอร์ จึงอยู่ในขอบเขตแห่งความรับผิดของโจทก์ตามสัญญาประกันภัย เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยถ้าหากมี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้รับช่วงสิทธิและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

เมื่อวินิจฉัยดังนี้ ย่อมมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยทั้งสาม ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share