แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน20,000 บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 แต่ละกระทงไม่เกิน 1 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลดค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 1 และลงโทษจำเลยที่ 2ในสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้ด้วยนั้น เป็นการฎีกาเกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาล ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218
จำเลยออกเช็คพิพาทรวม 4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันเดียวกันและสั่งจ่ายเงินวันเดียวกัน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินไปในวันเดียวกันทั้งหมดทุกฉบับแต่การออกเช็คดังกล่าวเป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนและวันที่ที่ปรากฏในเช็คซึ่งผู้ออกเช็คอาจมีเงินจ่ายตามเช็คหรือมีเจตนาให้ใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกจากกันได้ การที่จำเลยทั้งสองออกเช็คหลายฉบับและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 31/2518)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างวาระ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ซึ่งจำเลยแลกเงินไปจากโจทก์ สั่งจ่ายเงินวันเดียวกัน เมื่อเช็คทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ผลปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 4 ฉบับในวันเดียวกัน การกระทำของจำลยดังกล่าวถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91ให้ปรับจำเลยที่ 1 ตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงิน 40,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2ตามเช็ค 2 ฉบับแรกมีกำหนด ฉบับละ 6 เดือน และฉบับที่ 3 มีกำหนด 8 เดือน ฉบับที่ 4 มีกำหนด 1 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 20,000 บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 แต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฉะนั้น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลดค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 1 และลงโทษจำเลยที่ 2 ในสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้ด้วยนั้น จึงเป็นการฎีกาเกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามเช็คทั้ง 4 ฉบับ โดยถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างกระทงความผิดนั้นจึงมิชอบ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องรวม 4 ฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันเดียวกัน และสั่งจ่ายเงินวันเดียวกัน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินไปในวันเดียวกันทั้งหมดทุกฉบับก็ตาม แต่การออกเช็คพิพาทดังกล่าว เป็นการสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามจำนวนและวันที่ที่ปรากฏในเช็ค ซึ่งจำเลยผู้ออกเช็คอาจมีเงินจ่ายตามเช็คหรือมีเจตนาให้ใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกจากกันได้ การที่จำเลยทั้งสองออกเช็คหลายฉบับ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวแล้วจึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 31/2518 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี โจทก์ นายสมศักดิ์ กาญจนสะอาด จำเลย
พิพากษายืน