คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1560/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เด็กซึ่งเกิดจากหญิงผู้ซึ่งได้อยู่กินกับชายฉันสามีภริยาหลังจากที่ชายได้ตายไปเกินกว่า 310 วันแล้ว ย่อมมิใช่บุตรของชายผู้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1519, 1520 และ 1521 และมาตรา 1519,1520,1521 นี้ย่อมนำมาใช้บังคับในกรณีที่ชายหญิงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา แต่มิได้จดทะเบียนสมรสได้ ในเมื่อมีปัญหาว่าเด็กที่เกิดจากหญิงนั้นเป็นบุตรของชายที่อยู่กินด้วยกันหรือมิใช่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับมรดกที่นาและเรือน 1 หลัง จากนายกลิ่นน้องของโจทก์ จำเลยที่ 2 เคยเป็นภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมายของนายกลิ่นและไม่มีบุตรต่อกัน จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้บุกรุกที่นาดังกล่าวและรื้อเรือนไป จึงขอให้ขับไล่และเรียกเรือนคืน

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า มีบุตรกับนายกลิ่น 1 คน และยังมีชีวิตอยู่ เมื่อนายกลิ่นตาย ที่นาและเรือนจึงตกได้แก่บุตรของนายกลิ่นอันเกิดจากจำเลย และจำเลยยังได้ครอบครองนาพิพาทมาจนได้สิทธิครอบครองแล้วด้วย

ศาลชั้นต้นฟังว่าบุตรของจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรที่เกิดจากนายกลิ่น และจำเลยที่ 2 มิได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บุตรของจำเลยที่ 2 มิได้เกิดจากนายกลิ่นเพราะเด็กนั้นเกิดหลังจากนายกลิ่นตายแล้ว 332 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1519 1520 และ 1521 ถ้าชายตายไปก่อน 310 วันก็ไม่มีตัวตนอยู่ จึงไม่อาจให้กำเนิดบุตรแก่หญิงที่ตนได้อยู่ร่วมกันมาก่อน 310 วันได้ ถ้าเด็กเกิดมาภายในระยะเวลา 180 วัน ถึง 310 วัน นับตั้งแต่วันที่ชายได้ตายลง กฎหมายก็เพียงแต่ให้สันนิษฐานว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของชายด้วย ซึ่งฝ่ายชายมีสิทธินำสืบหักล้างได้ และมาตรา 1519, 1520, 1521 ย่อมนำมาใช้บังคับในกรณีที่ชายหญิงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรสได้ในเมื่อมีปัญหาว่าเด็กที่เกิดจากหญิงนั้นเป็นบุตรของชายที่อยู่กินด้วยกันหรือมิใช่

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์พิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายกลิ่น จึงพิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share