คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18)ซึ่งกำหนดหน้าที่เสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในข้อ 3 ว่า ในกรณีการขายน้ำตาลทรายดิบ ผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับนั้น แม้โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับแต่เมื่อกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ได้ประกาศผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้ส่งออกต้องชำระภาษีเต็มในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับเสียแล้วเท่ากับจำเลยยอมเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีการค้าจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ส่งออก จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีรายได้ท้องถิ่นที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จังหวัดจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหน่วยงานที่บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนภูมิภาคเท่านั้น ส่วนการจัดเก็บภาษีอากรเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยตรง จำเลยที่ 2 จึงหาต้องรับผิดคืนเงินภาษีแก่โจทก์ไม่ ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์หรือไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ผู้ต้องเสียภาษีมีสิทธิที่จะเรียกร้องดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ขอคืนได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ได้รับคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้า และภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่น (สุขาภิบาล) จำนวน868,872.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2524 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 571,804.28 บาทรวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,440,676.59 บาท กับให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวน 868,872.31 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับองค์การคลังสินค้าไม่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพราะตามสัญญาให้โจทก์นำน้ำตาลทรายดิบไปปั่นใหม่ให้มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 0.4 องค์การคลังสินค้าจึงจะรับมอบน้ำตาลทรายดิบที่ปรับปรุงคุณภาพแล้วน้ำตาลทรายดิบจะสูญหายไปเพราะการปั่น ถือว่าเป็นน้ำตาลชนิดอื่นไม่มีสภาพเป็นน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นสินค้าตามบัญชีที่ 1หมวด 1(7) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับตามกฎหมายเหตุที่ต้องนำน้ำตาลทรายดิบไปปรับปรุงคุณภาพ เนื่องจากน้ำตาลทรายดิบประชาชนไม่นิยมบริโภค เพราะสกปรกและความชื้นสูง อีกทั้งน้ำตาลทรายดิบจะไม่มีการจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป จะผลิตขึ้นเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สำหรับนำเอาไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายดิบที่โจทก์ขายให้องค์การคลังสินค้า และโจทก์ต้องนำไปปรับปรุงคุณภาพโดยการปั่นใหม่ก่อนส่งมอบนั้นไม่มีสภาพเป็นน้ำตาลทรายดิบหรือน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ แต่มีลักษณะเป็นน้ำตาลทรายที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถือเป็นน้ำตาลชนิดอื่น ซึ่งประชาชนสามารถนำไปใช้บริโภคได้ทันที จึงมิใช่เป็นการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบแต่ประการใด โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าตามกฎหมายให้กับจำเลย และจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การเสียภาษีการค้าดังกล่าวของโจทก์ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์จำเลยฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2523 โจทก์ได้ทำสัญญาขายน้ำตาลทรายดิบให้กับองค์การคลังสินค้า จำนวน 15,806กระสอบ ราคากระสอบละ 700 บาท รวมเป็นเงิน 11,064,200 บาท และตามสัญญาข้อ 3 กำหนดให้โจทก์ต้องนำน้ำตาลทรายดิบไปปั่นให้ความชื้นลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 0.4 โจทก์ได้ส่งมอบน้ำตาลทรายดิบและรับชำระเงินเรียบร้อย ต่อมาสรรพากรจังหวัดสิงห์บุรี ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปเสียภาษีการค้าในการขายน้ำตาลทรายดิบให้กับองค์การคลังสินค้าดังกล่าว วันที่ 12 กันยายน 2523 โจทก์ได้ไปยื่นแบบแสดงรายการการค้าเสียภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้า ภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นรวมเป็นเงิน 868,872.31 บาท ตามหนังสือเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 6 โจทก์ได้ชำระภาษีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้งดเบี้ยปรับ ทางจังหวัดก็งดเบี้ยปรับให้ตามขอและต่อมาโจทก์มีหนังสือขอคืนเงินภาษีการค้า สรรพากรจังหวัดสิงห์บุรีมีหนังสือลงวันที่ 11 สิงหาคม 2524 ว่า โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับถูกต้องแล้ว ไม่มีกรณีต้องพิจารณาคืนภาษีแต่ประการใด มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 78 วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้ประกอบการค้าตามที่ระบุในบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวดนี้มีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษีตามอัตราในบัญชีอัตราภาษีการค้าดังกล่าวนั้น” โจทก์เป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวออกจำหน่าย จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ประเภทการค้า 1 การขายของ ชนิด 1(ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าที่ใช้บังคับในขณะนั้นและเนื่องจากน้ำตาลทรายดิบเป็นสินค้าที่ระบุไว้ในบัญชีที่ 1 หมวด 1(7) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา 5(8) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า แต่ปัญหาต่อไปมีว่าโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับยกเว้นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18) ซึ่งกำหนดหน้าที่เสียภาษีการค้าตามมาตรา78 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในข้อ 3 ว่า ในกรณีการขายน้ำตาลทรายดิบผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับนั้นเห็นว่า ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้าดังกล่าว ให้ผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับ ดังนั้นแม้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 7ของรายรับ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้มีประกาศผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้ส่งออกต้องชำระภาษีเต็มในอัตราภาษีร้อยละ 7 ของรายรับเสียแล้วเท่ากับจำเลยยอมเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีการค้าจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ส่งออก จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้าเงินเพิ่มภาษีการค้า และภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นตามฟ้องให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น แต่สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 เป็นเพียงหน่วยงานที่บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนภูมิภาคเท่านั้น ส่วนการจัดเก็บภาษีอากรเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยตรง ดังนั้นจำเลยที่ 2จึงหาต้องรับผิดคืนเงินภาษีแก่โจทก์ไม่ ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่โจทก์ขอคืนภาษีอากรคือตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2524 นั้น มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับขณะโจทก์ต้องเสียภาษีอากรตามฟ้องบัญญัติว่า ให้ผู้ที่ได้รับคืนเงินภาษีอากรได้รับดอกเบี้ยด้วยในอัตราร้อยละ 0.625ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่มิให้เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน และตามกฎกระทรวงฉบับที่133 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 1(2) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการให้เริ่มคิดดอกเบี้ย ตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนวันที่ 26 พฤษภาคม 2524 จึงครบกำหนดระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรวันที่ 26สิงหาคม 2524 ต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม2524 เป็นต้นไป และโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งไม่มากไปกว่าอัตราที่มาตรา 4 ทศ วรรคแรกบัญญัติไว้ จึงให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ให้โจทก์ในอัตราดังกล่าวแต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรตามฟ้องจำนวน 868,872.31 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share