คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบของจำเลยว่าด้วยเงินทุนสะสม พ.ศ. 2520 ระบุว่าเมื่อพนักงานบุคคลใดออกจากธนาคาร ให้ธนาคารจ่ายเงินทุนสะสมแก่พนักงานบุคคลนั้น เว้นแต่ในกรณีต้องออกจากงานตามคำสั่งของธนาคารเพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่หรือกระทำการประมาทเลินเล่อหรือกระทำการอื่นใดเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหาย หมายความว่าจำเลยจะไม่ต้องจ่ายเงินทุนสะสมให้แก่พนักงานถ้าพนักงานกระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโดยตรงต่อทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของจำเลยการที่โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจาร อ. พนักงานในสำนักงานเดียวกันแต่กระทำนอกสถานที่ทำงาน เป็นการกระทำในเรื่องส่วนตัวและมิได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทั้งจะถือว่าการกระทำละเมิดต่อ อ. ดังกล่าวเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยด้วยหาได้ไม่ โจทก์ไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามความหมายของระเบียบดังกล่าวอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินทุนสะสมให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาตะพานหินต่อมาจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่เป็นกรณีร้ายแรง ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาโทษพนักงานกระทำผิดวินัย พ.ศ. 2527 โดยพนักงานของจำเลยได้พูดจูงใจ ให้สัญญาในลักษณะหลอกลวงฉ้อฉลให้โจทก์รับสารภาพว่าโจทก์ได้ทำร้ายร่างกายและลวนลามนางสาวอรนุช ฉัตรปุญญานนท์ ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้กระทำผิดดังกล่าว จึงเป็นการรับสารภาพด้วยความไม่สมัครใจ จำเลยไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ และนางสาวอรนุช ฉัตรปุญญานนท์ ได้ทำหนังสือไม่เอาความโจทก์แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 16,652 บาท ค่าชดเชย จำนวน 65,334 บาทเงินทุนสะสมจำนวน 65,000 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 2,896 บาทให้ออกหนังสือสำคัญแสดงการผ่านงานให้แก่โจทก์ และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมหรือมิฉะนั้นก็ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานจำนวน 100,889 บาท จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ปลุกปล้ำลวนลามนางสาวอรนุช ฉัตรปุญญานนท์ ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ต่อหน้าธารกำนัล จนเป็นเหตุให้นางสาวอรนุชได้รับบาดเจ็บที่แขนฟกช้ำดำเขียวและมีแผลที่ปาก อันเป็นการประพฤติตัวเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ขัดต่อศีลธรรมและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง โจทก์ได้ยอมรับผิดและเล่าความจริงต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว จำเลยจึงสามารถลงโทษเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน 61,976.61 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจารนางสาวอรนุชโจทก์ย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าการที่โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจารนางสาวอรนุช จำเลยถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน การที่โจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว หาใช่ว่าจะเป็นการกระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันจะไม่ต้องจ่ายเงินสะสมด้วยเสมอไป การที่จะจ่ายเงินสะสมแก่พนักงานเมื่อออกจากงานหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเฉพาะตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยเงินทุนสะสม พ.ศ. 2520 เท่านั้น ซึ่งปรากฏจากคำปรารภของระเบียบดังกล่าวว่า “คณะกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัดเห็นสมควรที่จะผดุงฐานะพนักงานธนาคารเมื่อออกจากงานให้มีเงินทุนสะสมไว้เป็นบำเหน็จตามสมควร” และข้อ 7 ระบุว่า “เมื่อพนักงานบุคคลใดออกจากธนาคาร ให้ธนาคารจ่ายเงินทุนสะสมแก่พนักงานบุคคลนั้น เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้… 7.2 ต้องออกจากงานตามคำสั่งของธนาคาร เพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่อ หรือกระทำการอื่นใดเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหาย…” ตามระเบียบดังกล่าวนี้เห็นได้ว่า จำเลยจะไม่ต้องจ่ายเงินทุนสะสมให้แก่พนักงานในกรณีที่พนักงานนั้นต้องออกจากงานเพราะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ธนาคารจำเลยต้องเสียหาย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเป็นการกระทำที่ทำให้ธนาคารจำเลยได้รับความเสียหายโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของธนาคารจำเลยก็ได้ การที่โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจารนางสาวอรนุช ซึ่งเป็นพนักงานในสำนักงานเดียวกันแต่กระทำนอกสถานที่ทำงาน เป็นการกระทำในเรื่องส่วนตัวของโจทก์และมิได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ทั้งจะถือว่าการกระทำดังกล่าวอันเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวอรนุชเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยด้วยย่อมไม่ได้ การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงยังไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามความหมายของระเบียบดังกล่าวอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิไม่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน

Share