คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1553/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน โจทก์บรรยายฟ้องว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของอธิบดีกรมสรรพากรที่เรียกเก็บภาษีจากโจทก์อย่างโจทก์ทำการค้าเองโดยตรงไม่ถูกต้อง เพราะการค้าของโจทก์ในปี 2499 – 2500 เป็นอย่างตัวแทนของบริษัท ฮ. ขอให้แสดงว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นคำสั่งที่มิชอบ โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าอย่างเป็นผู้ขาย ในคดีหลัง โจทก์บรรยายฟ้องเป็นอย่างเดียวกันว่า โจทก์ทำการค้าอย่างเป็นตัวแทน และขอให้แสดงว่าการค้าโจทก์รายเดียวกันนี้เป็นเพียงนายหน้าตัวแทน ฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 คดีจึงมีประเด็นอย่างเดียวกันว่า การฟ้องของโจทก์สำหรับปี 2499 – 2500 เป็นการค้ามิใช่โดยตรง หากเป็นเพียงตัวแทน การที่ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนถูกยกฟ้องไป ก็เพราะโจทก์หมดสิทธิฟ้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าโจทก์หมดสิทธิฟ้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างเดียวหรือไม่ ซึ่งในคดีหลังจำเลยก็ให้การเช่นเดียวกับคดีก่อนว่าโจทก์ฟ้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
การยึดทรัพย์ตามประมวลรัษฎากรมิใช่เป็นกระบวนชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(1) แต่เป็นการยึดทรัพย์ตามอำนาจที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้
อำนาจในการที่จะสั่งยึดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้โดยเฉพาะ หาใช่เป็นเรื่องตัวแทนตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่
เมื่อข้อเท็จจริงตามโจทก์ฟ้องประกอบคำให้การจำเลยและสำนวนคดีก่อนเป็นอันวินิจฉัยได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการสืบพยานตามที่โจทก์แถลงไว้ต่อศาลในวันนัดชี้สองสถานต่อไปอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทฮั่วเซ้ง แอนด์กัมปนี ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจัดซื้อข้าวส่งไปให้ที่สิงคโปร์ โดยโจทก์ได้รับค่านายหน้า โจทก์ชำระภาษีการค้าประเภทตัวแทนในปี ๒๔๙๙ และ ๒๕๐๐ ในอัตราร้อยละห้าให้จำเลยถูกต้องแล้ว ต่อมาปลายปี ๒๕๐๐ ต่อ ๒๕๐๑ จำเลยอ้างว่าโจทก์ทำการค้าโดยตรงจึงเรียกเก็บภาษีการค้าและเงินเพิ่มกับภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับปี ๒๔๙๙ และ ๒๕๐๐ ซ้ำจากโจทก์เป็นเงิน ๓,๘๓๕,๘๐๗ บาท ๔๙ สตางค์ โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งในคดีแดงที่ ๑๔๑๓/๒๕๐๓ ศาลฎีกายกฟ้องโดยเหตุว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่อธิบดีกรมสรรพากรชี้ขาดต่อมาวันที่ ๑๘ – ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๖ จำเลยทำการยึดทรัพย์โจทก์เป็นราคา ๕๐,๐๐๐ บาทเพื่อจัดชำระภาษีที่จำเลยเรียกเก็บอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการยึดทรัพย์ ถ้าทรัพย์เสียหาย ก็ขอให้จำเลยใช้ราคา และพิพากษาว่าโจทก์เป็นนายหน้าตัวแทน
จำเลยให้การว่า ภาษีอากรตามทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นภาษีอากรค้าง เมื่อโจทก์ไม่ชำระ นายอำเภอสัมพันธวงศ์จึงดำเนินการยึดทรัพย์ตามอำนาจหน้าที่ที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ โจทก์ไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของอธิบดีต่อศาลภายใน ๑๕ วัน ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้โจทก์แพ้ โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องในคดีนี้อีกอันเป็นประเด็นเดียวกับคดีก่อน ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจรื้อพื้นการประเมินขึ้นโต้แย้งอีก
วันชี้สองสถาน โจทก์แถลงขอสืบพยานในข้อที่ว่า
๑.การค้าข้าวอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ทำในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทฮั่วเซ้ง
๒. จำเลยทำการยึดทรัพย์โจทก์ แม้ผู้ยึดเป็นเจ้าพนักงานอื่น ก็ทำตามคำสั่งและโดยอำนาจของจำเลย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วไม่ต้องสืบพยาน และวินิจฉัยว่านายอำเภอสัมพันธวงศ์เป็นผู้ทำการยึดตามอำนาจที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ จำเลยไม่ต้องรับผิด คำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการยึดและใช้ค่าเสียหายไม่มีทางบังคับ ส่วนประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนายหน้าตัวแทน ในการค้ารายนี้หรือเป็นผู้ทำการค้าเองนั้น ศาลฎีกาพิพากษาในคดีแดงที่ ๑๔๑๓/๒๕๐๓ แล้ว ถือว่าข้อเรียกร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้โจทก์เสียภาษีเป็นอันยุติ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
คดีได้ความว่า โจทก์เสียภาษีการค้าสำหรับปี ๒๔๙๙ และ ๒๕๐๐ ไปแล้วอย่างเป็นตัวแทนบริษัทฮั่วเซ้ง ต่อมาพนักงานประเมินทำการตรวจสอบบัญชีและการเสียภาษีของโจทก์เห็นว่ามิได้ทำการเป็นตัวแทน หากทำการค้าเอง จึงทำการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์ไปชำระใหม่ เป็นเงินที่ต้องเสียเพิ่ม ๓,๘๓๕,๘๐๗.๔๙ บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพากรว่าการประเมินของเจ้าพนักงานเป็นการถูกต้องแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีภายใน ๑๕ วัน กลับไปดำเนินการทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อไม่สำเร็จ จึงมาดำเนินคดีทางศาล ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลเกินกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๐(๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๒ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีก่อนโจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของอธิบดีกรมสรรพากรที่เรียกเก็บภาษีจากโจทก์อย่างโจทก์ทำการค้าโดยตรงไม่เป็นการถูกต้อง เพราะการค้าของโจทก์ในปี ๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ เป็นอย่างตัวแทน ขอให้แสดงว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และพิพากษาว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าอย่างเป็นผู้ขาย คดีหลังโจทก์บรรยายฟ้องโดยกล่าวเป็นอย่างเดียวกันว่า โจทก์ทำการค้าอย่างเป็นตัวแทน เจ้าพนักงานเรียกเก็บไม่ถูกต้องและขอให้พิพากษาแสดงว่า การค้าของโจทก์รายเดียวกันนี้โจทก์เป็นเพียงนายหน้าตัวแทน ฟ้องของโจทก์ทั้ง ๒ คดีจึงมีประเด็นอย่างเดียวกันว่า การค้าของโจทก์สำหรับปี ๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ เป็นการค้ามิใช่โดยตรงหากเป็นเพียงตัวแทน การที่ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนถูกยกไปก็เพราะโจทก์หมดสิทธิฟ้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ก็มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า โจทก์หมดสิทธิฟ้องตามที่กฎหมายได้บัญญัติเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งในคดีหลังนี้จำเลยก็ได้ให้การตั้งเป็นประเด็นต่อสู้เช่นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์ฟ้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ก็ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๑๓/๒๕๐๓ ซึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าโจทก์ฟ้องเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘
การยึดทรัพย์ตามที่โจทก์อ้างในคดีนี้มิใช่เป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๘(๑) ได้บัญญัติยกเว้นไว้ แต่เป็นการยึดทรัพย์ซึ่งตามฟ้องของโจทก์เองก็อ้างว่าเป็นการยึดโดยพลการและเป็นการยึดตามอำนาจที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๒ อำนาจในการที่จะสั่งยึดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร เป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจไว้ หาใช่เป็นเรื่องตัวแทนตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่
ที่โจทก์ฎีกาขอให้สั่งศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องประกอบคำให้การจำเลยและสำนวนคดีก่อนเป็นอันวินิจฉัยได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการสืบพยานตามที่โจทก์แถลงไว้ต่อศาลในวันชี้สองสถานนั้นต่อไปอีก
พิพากษายืน

Share