คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ธนาคารผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อนทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินนั้นคืน และยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืม เงินที่ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันจ่ายไปก่อนนั้นไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654เพราะมิใช่เป็นเรื่องกู้ยืมและโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงิน ข้อตกลงดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายจำเลยต้องเสียดอกเบี้ยไปตามนั้นไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่จะลดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2532 จำเลยได้ขอสินเชื่อบัตรเครดิตโพธิ์เงินจากโจทก์ เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนการชำระด้วยเงินสด หรือเบิกเงินสดจากเครื่องบริการเงินด่วน เมื่อมีการเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรเครดิตมายังโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้เงินไปก่อน จำเลยยินยอมชำระเงินคืนให้โจทก์ โดยวิธีหักทอนจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลย และให้ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและให้คิดทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ จำเลยได้นำบัตรเครดิตไปใช้หลายครั้งและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีเรื่อยมา จำเลยเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 79,081.02 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 79,081.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงิน 65,945.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 65,945.30 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2535จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตในกรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควร ถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากศาลเห็นว่า สูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383ได้หรือไม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยขอสินเชื่อบัตรเครดิตจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ตลอดจนเบิกเงินสดจากเครื่องบริการเงินด่วนของโจทก์และของธนาคารสมาชิก เมื่อมีการเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรเครดิตโจทก์จะชดใช้เงินไปก่อนจำเลยยินยอมชำระคืนโดยให้โจทก์หักทอนจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลย ถ้ายอดเงินในบัญชีเดินสะพัดปรากฎว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยได้นำบัตรเครดิตไปใช้ชำระค่าสินค้าบริการและเบิกเงินสดหลายครั้ง นับถึงบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 65,945.30 บาทโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.13 ประกอบ จ.12 เห็นว่าตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 และคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 ได้กำหนดข้อสาระสำคัญไว้ตรงกันว่าในกรณีที่ธนาคารผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อน ด้วยเหตุใดก็ตามทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่าย ซึ่งตามปกติธนาคารจะปฎิเสธการจ่ายเงินเสียก็ได้ ผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจะจ่ายเงินส่วนที่ธนาคารผ่อนผันจ่ายไปให้นั้นคืนให้แก่ธนาคารและยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นให้แก่ธนาคารในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืม (ซึ่งในขณะนี้กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดในภายหลัง) นับแต่วันที่เป็นหนี้ธนาคารอยู่ตามบัญชีเดินสะพัดตามวิธีและประเพณีของธนาคาร เห็นได้ว่าเงินที่ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันจ่ายไปก่อนนั้น ไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอนว่าให้จำเลยจะต้องจ่ายคืนให้แก่โจทก์เมื่อใด เป็นแต่เพียงว่า จำเลยยอมผูกพันตนที่จะจ่ายคืนให้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจ สังคม และนโยบายการเงินของประเทศ เป็นการกำหนดดอกเบี้ยกันไว้ล่วงหน้า ถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว และไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ซึ่งห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี เพราะมิใช่เป็นเรื่องกู้ยืมและโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงิน ข้อตกลงดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยไปตามข้อตกลงนั้นจึงไม่เป็นลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับและสูงเกินส่วน จึงลดลงเป็นร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share