คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันถึงกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้คืนโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระพร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน จำเลยที่ 1มิได้ยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ให้การเพียงว่าสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาปลอมจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญากู้เงินเป็นสัญญาปลอมหรือไม่ ปัญหาว่าสัญญากู้เงินเป็นสัญญาปลอมหรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น คดีแพ่งที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะได้ต่อเมื่อข้ออ้างของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ปัญหาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 80,000 บาท ตามสัญญากู้เงินตามฟ้องหรือไม่นั้นเมื่อพยานหลักฐานโจทก์มีข้อพิรุธหลายประการไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 80,000 บาทและทำสัญญากู้เงินซึ่งมีข้อความครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาปลอมหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2531จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 80,000 บาท กำหนดชำระเงินต้นคืนภายในวันที่ 16 กันยายน 2532 และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี เป็นรายเดือน พร้อมกับนำบ้านเลขที่ 103/2 และที่ดินวางเป็นประกัน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดจะยอมใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการทวงถามให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน สัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไม่ว่าด้วยเหตุใดจำเลยที่ 2 จะชำระแทนทั้งสิ้นหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระและผัดผ่อนเรื่อยมาโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ชำระเงิน 105,330 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายในการทวงถามอีก 300 บาท ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาปลอม ความจริงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 เพียง 7,000 บาท และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันที่ยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ ต่อมาโจทก์กับพวกจึงได้กรอกข้อความในสัญญาค้ำประกันเป็นจำนวนเงินถึง 80,000 บาท แล้วนำมาฟ้องจำเลยทั้งสอง ทั้งโจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิด และจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับการทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 80,000 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กันยายน2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคิดได้ไม่เกิน 25,330 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การว่าสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาปลอม จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นสัญญาปลอมได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ให้การเพียงว่าสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาปลอม จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญากู้เงินเป็นสัญญาปลอมหรือไม่ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะได้ต่อเมื่อข้ออ้างของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์จำเลย 80,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ปัญหานี้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 80,000 บาทคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ได้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 ก่อนเขียนสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 นางจรัส รื่นรส เป็นผู้เขียนสัญญากู้เงินโดยนางจรัสเขียนเองโจทก์ไม่ได้บอก จำเลยที่ 1 ได้ใช้ปากกาที่เขียนสัญญากู้เงินนั้นลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน แต่โจทก์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าจำเลยที่ 1 เคยมาติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์หลายครั้ง ในครั้งก่อน ๆ โจทก์ไม่ได้ให้กู้ยืมเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้ เนื่องจากไม่ได้หลักทรัพย์ใด ๆ มาเป็นประกัน แสดงว่าโจทก์มิได้เชื่อถือจำเลยที่ 1 ดังนั้นที่โจทก์เบิกความว่า ได้มอบเงินที่กู้ยืมให้จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะเขียนสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่น่าเชื่อนอกจากนี้ศาลฎีกาได้พิจารณาสีของหมึกที่เขียนข้อความอื่นในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1เปรียบเทียบกับสีของหมึกที่เป็นลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ปรากฎว่าสีของหมึกแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคำเบิกความของโจทก์ขัดแย้งกับหลักฐานของโจทก์ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และยังขัดแย้งกับคำเบิกความของนางจรัสพยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเบิกความว่าจำนวนเงินที่เขียนลงไปในสัญญากู้เงินนั้น โจทก์เป็นผู้บอกให้เขียนว่า 80,000 บาท จำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินโดยใช้ปากกาคนละด้ามกับที่ นางจรัสใช้เขียนสัญญากู้เงิน พยานหลักฐานโจทก์มีข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 80,000บาท และทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาปลอมหรือไม่
พิพากษายืน

Share