คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15462/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานนั้น ไม่มีบทกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องกระทำ จึงเป็นอำนาจทางการบริหารจัดการของนายจ้างตามแต่ที่จะกำหนดหรือตามที่ได้ตกลงกับลูกจ้างหรือพนักงานไว้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะให้รับฟังได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่พนักงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานเป็นสิทธิเฉพาะของจำเลย และเป็นไปตามนโยบายหรือแนวทางการพิจารณาปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานตามที่จำเลยประกาศไว้ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่าพนักงานจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยพนักงานจะรู้ว่าได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประมาณวันที่ 15 มีนาคม ส่วนพนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนงวดการจ่ายเงินเดือนในเดือนมีนาคม 2550 จำเลยจะไม่พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ ดังนั้นเมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 การที่จำเลยไม่ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2550 ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นไปตามอำนาจทางการบริหารจัดการของจำเลยตามระเบียบโดยชอบแล้ว
การที่โจทก์ใช้รถประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2544 นั้น เป็นสิทธิประโยชน์และเป็นสวัสดิการในรูปแบบที่มิใช่ตัวเงินที่จำเลยจัดให้เฉพาะพนักงานระดับสูง แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติจากจำเลยเป็นกรณีพิเศษ ให้เปลี่ยนเป็นการรับเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท แทนก็ตามก็ยังถือว่าเป็นสวัสดิการอยู่นั่นเองเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นเงินแทน เงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถ จึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ มิใช่เป็นค่าตอบแทนในการทำงานโดยตรงไม่ถือเป็นค่าจ้าง
โจทก์ขอและจำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถแทนการใช้รถประจำตำแหน่ง หลังจากจำเลยออกระเบียบงานที่ 14/2549 โดยข้อ 2.7 กำหนดไม่ให้นำเงินช่วยเหลือค่ารถไปรวมกับเงินเดือนเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณผลประโยชน์อื่นใด อันรวมถึงค่าชดเชยด้วย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางไม่นำเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถมารวมเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว
จำเลยประกอบกิจการธนาคารและเคยใช้ชื่อว่าธนาคาร ส. จำกัด โจทก์เคยเป็นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่จะต้องรวมกิจการ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคาร ส. กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น จำเลยกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงานไว้กับโจทก์ ว่าจำเลยจะจัดสวัสดิการให้โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยสวัสดิการที่จำเลยจัดให้กับพนักงานของจำเลยซึ่งขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่า ธนาคาร ส. ยกเว้นสวัสดิการว่าด้วยเงินบำเหน็จนั้น แสดงว่ากรณีเงินบำเหน็จที่จัดไว้สำหรับพนักงานของธนาคาร ส. ที่ทำงานมาก่อนที่จะมีการรวมกิจการ เป็นสวัสดิการที่มีมาก่อนแล้วและจำเลยยังคงที่จะสงวนสิทธิไว้ให้แก่พนักงานที่ร่วมทำงานกับจำเลยมาแต่แรก ไม่รวมถึงโจทก์ที่เป็นพนักงานใหม่ซึ่งเพิ่งเข้ามาหลังมีการรวมกิจการ ทั้งไม่ถือเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีต่อนายจ้างเดิมที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ตามความหมายในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้น ที่จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เดิมใช้ชื่อว่าธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2541 กระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีก 12 บริษัท ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 โจทก์แจ้งความประสงค์ขอเข้าทำงานกับจำเลย และจำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย เริ่มทำงานวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 54,850 บาท โจทก์มีสิทธิได้ใช้รถประจำตำแหน่ง ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2549 จำเลยอนุมัติให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้รถประจำตำแหน่งมาเป็นรับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถรวมเป็นเงิน เดือนละ 53,000 บาท ระเบียบงานที่ 76/2547 ถูกยกเลิกโดยระเบียบงานที่ 14/2549 ในเดือนมีนาคม 2550 โจทก์เกษียณอายุโดยได้รับค่าชดเชย 954,800 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 3,182.67 บาท
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องปรับขึ้นเงินเดือนในปี 2550 ให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานนั้น ไม่มีบทกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องกระทำ จึงเป็นอำนาจทางการบริหารจัดการของนายจ้างตามแต่ที่จะกำหนดหรือตามที่ได้ตกลงกับลูกจ้างหรือพนักงานไว้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะให้รับฟังได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่พนักงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งข้อเท็จจริงได้ความตามศาลแรงงานกลางว่าการปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานเป็นสิทธิเฉพาะของจำเลย และเป็นไปตามนโยบายหรือแนวทางการพิจารณาปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานตามที่จำเลยประกาศไว้ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่าพนักงานจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยพนักงานจะรู้ว่าได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประมาณวันที่ 15 มีนาคม ส่วนพนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนงวดการจ่ายเงินเดือนในเดือนมีนาคม 2550 จำเลยจะไม่พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้ ดังนั้นเมื่อโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 การที่จำเลยไม่ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2550 ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นไปตามอำนาจทางการบริหารจัดการของจำเลยตามระเบียบโดยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของโจทก์มีว่า การคำนวณค่าชดเชยให้โจทก์โดยไม่นำเอาเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท มารวมเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถดังกล่าวถือเป็นค่าจ้าง ทั้งตามระเบียบงานที่ 76/2547 กำหนดข้อยกเว้นโดยให้นำเงินช่วยเหลือค่ารถไปรวมกับเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณกรณีเกษียณอายุ แม้ต่อมาระเบียบงานที่ 14/2549 จะกำหนดไม่ให้นำเงินดังกล่าวมารวมกับเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณก็ตาม แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งโจทก์ก็ไม่เคยทราบและไม่ยินยอมด้วย จึงไม่อาจนำข้อกำหนดตามระเบียบงานที่ 14/2549 ในส่วนดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ได้ นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ใช้รถประจำตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2544 นั้น เป็นสิทธิประโยชน์และเป็นสวัสดิการในรูปแบบที่มิใช่ตัวเงินที่จำเลยจัดให้เฉพาะพนักงานระดับสูง แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติจากจำเลยเป็นกรณีพิเศษ ให้เปลี่ยนเป็นการรับเงินช่วยเหลือค่ารถเดือนละ 50,000 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท แทนก็ตามก็ยังถือว่าเป็นสวัสดิการอยู่นั่นเองเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นเงินแทน เงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถจึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ มิใช่เป็นค่าตอบแทนในการทำงานโดยตรงไม่ถือเป็นค่าจ้าง และเมื่อได้ความจากโจทก์เองว่า โจทก์ขอและจำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถแทนการใช้รถประจำตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2549 หลังจากจำเลยออกระเบียบงานที่ 14/2549 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 โดยกำหนดไม่ให้นำเงินช่วยเหลือค่ารถไปรวมกับเงินเดือนเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณผลประโยชน์อื่นใด อันรวมถึงค่าชดเชยด้วย นั้น เมื่อโจทก์เองเป็นถึงรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย จบการศึกษานิติศาสตร์ย่อมทำความเข้าใจระเบียบที่จำเลยประกาศใช้ได้เป็นอย่างดี การที่จำเลยประกาศใช้ระเบียบงานที่ 14/2549 มาตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 โดยโจทก์ก็มาขอรับสิทธิประโยชน์จากระเบียบงานดังกล่าว ทั้งระเบียบงานที่ 76/2547 ที่โจทก์นำมาอ้างเพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่ตน ก็กำหนดให้มีผลใช้บังคับเพียงถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางไม่นำเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าน้ำมันรถมารวมเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารและเคยใช้ชื่อว่าธนาคารสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์เคยเป็นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่จะต้องรวมกิจการ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคารจำกัด (มหาชน) กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น จำเลยกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงานไว้กับโจทก์ ว่าจำเลยจะจัดสวัสดิการให้โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยสวัสดิการที่จำเลยจัดให้กับพนักงานของจำเลยซึ่งขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่า ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ยกเว้นสวัสดิการว่าด้วยเงินบำเหน็จนั้นแสดงว่ากรณีเงินบำเหน็จที่จัดไว้สำหรับพนักงานของธนาคารสหธนาคาร (จำกัด) มหาชน ที่ทำงานมาก่อน ที่จะมีการรวมกิจการ เป็นสวัสดิการที่มีมาก่อนแล้วและจำเลยยังคงที่จะสงวนสิทธิไว้ให้แก่พนักงานที่ร่วมทำงานกับจำเลยมาแต่แรก ไม่รวมถึงโจทก์ที่เป็นพนักงานใหม่ซึ่งเพิ่งเข้ามาหลังมีการรวมกิจการ ทั้งไม่ถือเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีต่อนายจ้างเดิมที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ตามความหมายในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้นที่จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน

Share