คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1546/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องพี่ชายต่างมารดาซึ่งร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาโจทก์ว่าปิดบังทรัพย์มรดกบางรายการ โจทก์เคยบอกให้นำมาแบ่งก็เพิกเฉย ขอให้บังคับให้ชำระเงินส่วนแบ่งของโจทก์ จำเลยให้การว่า การจัดการแบ่งมรดกรายนี้มารดาโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยและนางสาวพรรณี ได้ทำสัญญาแบ่งมรดกให้ทายาททุกคนได้รับเรียบร้อยไปแล้วจนบัดนี้เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องร้องได้แล้ว ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยอ้างอายุความที่เกี่ยวแก่การจัดการมรดก ซึ่งห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกมรดกที่จำเลยปิดบังไว้ ไม่เกี่ยวกับการจัดการมรดก ทั้งปรากฎว่าเมื่อปี พ.ศ. 2499 (นับถึงวันฟ้องไม่เกิน 5 ปี) ก็ยังมีการแบ่งมรดกกันอีก คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1733 และคดีนี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีความประสงค์ยกอายุความซึ่งเกี่ยวด้วยการจัดการมรดกขึ้นต่อสู้โดยตรงแต่อย่างเดียว มิได้ยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าขาดอายุความตามมาตรา 1754 หรือไม่ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว
แม้ไม่ได้อ้างบทมาตรามาด้วย ก็เป็นหน้าที่ศาลที่จะวินิจฉัยว่าจะยกกฎหมายใดมาปรับคดีและมีอายุความเท่าใดนั้น หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายชุนหรือชุนกี่ จำเลยเป็นพี่โจทก์แต่ต่างมารดากัน นายชุนกี่ตายไปโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ขณะนั้นโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์นางเย้งมารดาโจทก์ไจัดการในเรื่องรับมรดกแทนโจทก์ ต่อมาศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายชุนกี่ ร่วมกับนางเบ้งและนางสาวพรรณี ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ นายชุนกี่ได้รับเหมาก่อสร้างใช้ยี่ห้อว่า “ชุนกี่” และได้รับเหมาก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารที่ทำการโทรศัพทืกลางที่สี่แยกถนนสามเสนกับราชวิถีตัดกัน เมื่อถึงแก่กรรม มีเงินค่าก่อสร้างงวดที่ ๓, เงินมัดจำสัญญา, เงินมัดจำซองประมูลและเงินสินจ้างงวดสุดท้ายซึ่งกรมไปรษณีย์ ฯ ยังค้างจ่ายอยู่เงินทั้งหมดนี้เป็นมรดก แต่จำเลยปิดบังความจริง คือ นำเงินเฉพาะสินจ้างงวดสุดท้ายกับเงินฝากธนาคารเท่านั้นมาแบ่งปันให้แก่ทายาท ไม่แจ้งเรื่องเงินค่าก่อสร้างงวดที่ ๓ เงินมัดจำสัญญาและเงินมัดจำของประมูลรวม ๑๔๘,๙๑๕ บาท ให้ทายาทและผู้จัดการมรดกอื่นทราบความเพิ่งปรากฏแก่โจทก์ว่าจำเลยได้รับเงินดังกล่าวมาแล้ว จำเลยกับผู้จัดการมรดกอีก ๒ คน ได้ตกลงทำสัญญาแบ่งมรดกไว้ว่า ให้แบ่งเป็น ๑๑ ส่วน โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้ ๑ ส่วนเป็นเงิน ๑๓,๕๓๗.๓๒ บาท
โจทก์เคยบอกให้จำเลยแบ่งเงินให้แล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับ
จำเลยให้การรับว่าจำเลยกับนางเบ้งและนางสาวพรรณีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกจริง ต่อมาผู้จัดการมรดกทั้งสามได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทรับไปเสร็จสิ้นแล้ว นางเบ้งมารดาโจทก์เป็นผู้รับไปแทนโจทก์ จนบัดนี้เกินกว่า ๕ ปี โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องอีกได้ นอกจากนี้จำเลยยังยกข้อต่อสู้ประการอื่นด้วย
ในประเด็นเรื่องอายุความนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินมรดกของนายชุนกี่จากจำเลยเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวแก่การจัดการมรดก ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์ฟ้องเกิน ๕ ปี คดีขาดอายุความ จึงยังไม่ต้องกับคดีนี้ ส่วนข้อที่ว่าจะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ หรือไม่ จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำให้การของจำเลยที่อ้างว่า การจัดการแบ่งมรดกของนายชุนกี่นี้ นางเบ้งซึ่งเป็นมารดาผู้ปกครองโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยและนางสาวพรรณี ได้ทำสัญญาแบ่งมรดกให้ทายาททุกคนได้รับเรียบร้อยไปแล้วจนบัดนี้ เป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องร้องได้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยอ้างอายุความที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๓ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกมรดกที่จำเลยปิดบังไว้ ไม่เกี่ยวกับการจัดการมรดก ทั้งพยานจำเลยก็ว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ก็ยังมีการแบ่งมรดกกันอีก คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา ๑๗๓๓ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกมรดกที่จำเลยปิดบังไว้ ไม่เกี่ยวกับการจัดการมรดก ทั้งพยานจำเลยก็ว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ก็ยังมีการแบ่งมรดกกันอีก คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา ๑๗๓๓ ส่วนที่ว่าจะขาดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔หรือไม่ ซึ่งจำเลยคัดค้านขึ้นมาในชั้นนี้ว่า จำเลยได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แม้ไม่ได้อ้างบทมาตรามาด้วย ก็เป็นหน้าที่ศาลที่จะวินิจฉัยว่าจะยกกฎหมายใดมาปรับคดี และมีอายุความเท่าใด โดยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๓/๒๔๘๗ สนับสนุนนั้น
ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำพิพากษาฎีกานั้นหาตรงกับคดีนี้ไม่ เพราะคดีนี้เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีความประสงค์ยกอายุความประสงค์ยกอายุความซึ่งเกี่ยวด้วยการจัดการมรดก ขึ้นต่อสู้โดยตรงแต่อย่างเดียว มิได้ยกอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ ขึ้นต่อสู้คดี จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืน

Share