คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นความกันเกี่ยวกับการรังวัดแบ่งที่พิพาทตามคำพิพากษา จนศาลฎีกาได้พิพากษาให้โจทก์จัดการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่พิพาทให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์จะมาฟ้องคดีคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกาซึ่งได้เคยพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 เนื้อที่ 123 ไร่เศษ ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2500 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ได้ฟ้องโจทก์ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนให้กับพวกจำเลยรวมกันเป็นเนื้อที่ 52 ไร่ 3 งานเศษ คดีถึงที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งานให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ได้เนื้อที่รวมกัน 40 ไร่ ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194-1195/2504 ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2504 จนถึงบัดนี้ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 นำสำเนาคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไปแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินอยู่ในความบังคับบัญชาของกรมที่ดินจำเลยที่ 1 ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 1488 ออกเป็นของพวกจำเลยให้เป็นไปตามคำพิพากษาฎีกา แต่การรังวัดที่ดินจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดโดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ชี้แนวเขตให้จำเลยที่ 2 ทำการรังวัดตัดเอาเฉพาะที่ดินที่เป็นนาส่วนที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบางพลีกันเขตไว้เป็นทางสาธารณะมีเนื้อที่ประมาณ 36 ไร่เศษ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เว้นเนื้อที่ไว้ให้ตนเป็นส่วนของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อจำเลยที่ 2 หลายครั้ง ว่าการรังวัดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ขอให้รังวัดใหม่ โดยให้รังวัดตัดเอาเนื้อที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบางพลีได้กันเขตไว้จำนวน 36 ไร่รวมเข้าไปด้วย เพราะการกันเขตถนนดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการครอบครองที่ดินตามคำฟ้องของจำเลย ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ไม่ปฏิบัติตาม คงทำการรังวัดแบ่งแยกไปตามเดิมทำให้โจทก์เสียหาย และขาดประโยชน์ในที่ดิน 36 ไร่ ซึ่งถ้าโจทก์ทำนาจะได้ข้าวปีละ 20 ถังต่อไร่ รวมเป็นข้าว 720 ถัง ราคาถังละ 10 บาท เป็นเงินปีละ 7,200 บาท จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมการแบ่งแยกเดิมและให้ทำการแบ่งแยกใหม่ให้ถูกต้องตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194-1195/2504 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยทุกคนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 7,200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2505 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ได้ยื่นคำขอต่อจำเลยที่ 2 ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 1488 ซึ่งได้มาทางครอบครองตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194-1195/2504 จำเลยที่ 2 ได้หมายเรียกเจ้าของที่ดินข้างเคียงรวมทั้งโจทก์ไประวังแนวเขต ครั้นถึงวันนัดทำการรังวัด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 และเจ้าของที่ดินข้างเคียงไประวังแนวเขตพร้อมทั้งนายอำเภอบางพลีได้มอบให้ผู้แทนไประวังแนวเขตถนนและคลองสาธารณะโจทก์มิได้ไประวังแนวเขต เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้รังวัดที่ดินไปตามที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 และเจ้าของที่ดินข้างเคียงชี้เขตให้รังวัด เสร็จจัดทำรูปแผนที่แบ่งแยกปรากฏอยู่ในสำนวนสารบาญอันดับที่ 214 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120-121/2501 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2505 โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านต่อจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 นำช่างรังวัดไม่ถูกตามที่โจทก์ครอบครองจำเลยที่ 2 ได้รับคำคัดค้านแล้ว ก็มิได้ทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินจนบัดนี้เพียงแต่ช่างแผนที่ได้ทำการรังวัด จำลองรูปแผนที่ประกอบเรื่องไว้เท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย การรังวัดแบ่งแยกตามรูปแผนที่แบ่งแยกในสำนวนสารบาญอันดับที่ 214 โจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ได้เป็นความกันในชั้นบังคับคดีจนถึงศาลฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการแจ้งผลคดีให้จำเลยที่ 2 ทราบว่า รูปแผนที่แบ่งแยกในสำนวนสารบาญอันดับที่ 214 ซึ่งช่างแผนที่สำนักงานที่ดินทำมานั้นถูกต้อง ตรงกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยให้จัดการแบ่งแยกไปตามรูปแผนที่แบ่งแยกฉบับดังกล่าว ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า เดิมโจทก์และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 โดยแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดมีอาณาเขตแน่นอน ต่อมาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ขอให้โจทก์รังวัดแบ่งแยกให้ โจทก์ไม่ยอม จึงเกิดเป็นความกันจนถึงศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ชนะคดีได้ที่พิพาทตามที่จำเลยครอบครอง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194-1195/2504 (คือ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120-121/2501 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ) เมื่อจำเลยชนะคดีแล้วจำเลยได้ยื่นเรื่องราวต่อพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ขอให้ทำการรังวัดแบ่งแยก รังวัดแล้ว โจทก์คัดค้านว่ารังวัดไม่ถูกต้องได้เกิดเป็นความกันในชั้นบังคับคดีอีก มีการทำแผนที่พิพาทซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ต่างรับรองกัน คดีถึงที่สุดโดยจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ดังปรากฏตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 183-184/2510 ในการรังวัดที่ดิน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ทำการรังวัดโดยมิชอบแต่ประการใด หากแต่ได้นำชี้ให้เจ้าพนักงานรังวัดแบ่งแยกไปตามแนวเขตที่ดินที่ปกครองเป็นส่วนสัดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 1194-1195/2504 แต่อำเภอบางพลีได้ตั้งผู้แทนมาระวังแนวเขตทางสาธารณะซึ่งมีมาแต่ปี พ.ศ. 2496 ซึ่งจำเลยก็ได้นำชี้ตามแนวเขตที่ฝ่ายปกครองอำเภอบางพลีมากันแนวเขตเป็นทางสาธารณะไว้มีความกว้าง 40 เมตร ซึ่งได้กินเข้ามาในที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นเนื้อที่ประมาณ 4-5 ไร่เศษเท่านั้น ไม่ถึง 36 ไร่ จำเลยไม่เคยเว้นเนื้อที่ที่จำเลยครอบครองให้เป็นทางสาธารณะซึ่งทางอำเภอบางพลีกันแนวเขตให้ตกเป็นของโจทก์แต่ประการใด เพราะทางสาธารณะเป็นทางสายยาวตลอด ตัดผ่านที่ดินนาของทุกแปลง รวมถึงที่โจทก์ครอบครองด้วยที่ดินของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 หลังจากถูกทางการกันไว้แล้วจำเลยที่ 3 คงเหลือที่ครอบครองเพียง 12 ไร่ 3 งานเศษ และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 คงเหลือประมาณ 41 ไร่ 3 งานเศษเท่านั้น ตามรูปแผนที่ที่แบ่งแยกซึ่งทำขึ้นไว้ในชั้นบังคับคดีและคดีถึงที่สุดไปแล้วโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ เจ้าพนักงานที่ดินยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิและแย่งแยกที่ดินพิพาทลงชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิที่ฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งแยกได้ในขณะนี้ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินโฉนดที่ 1488 ที่อำเภอบางพลีกันไว้เป็นทางสาธารณะ โจทก์ทราบดีและยกให้เป็นทางสาธารณะมา 16-17 ปีแล้วไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยไม่สามารถจะเข้าทำประโยชน์ได้ โจทก์จึงไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เคยเป็นความเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทจนถึงศาลฎีกา ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194-1195/2504 ต่อมาก็เป็นความกันชั้นบังคับคดีอีกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 183-184/2510 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกโฉนดไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาลฎีกาอีก ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำเพราะโจทก์ขัดข้องเกี่ยวกับการบังคับคดีก่อนอย่างใดก็ชอบที่จะว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีก่อนนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 มาด้วยก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลฎีกาเคยได้พิจารณาพิพากษาถึงที่สุดมาแล้ว และข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไปทำการรังวัดที่ดินโดยสุจริต ไม่มีการละเมิดต่อโจทก์ ทางการยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนด จึงไม่มีนิติกรรมที่เพิกถอนตามที่โจทก์ขอเงินค่าเสียหายปีละ 7,200 บาทที่โจทก์ขอมา ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ต่างครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดอยู่ก่อนแล้ว คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงประเด็นอื่นอีก พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 200 บาท แทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นเงิน 150 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า การรังวัดแบ่งที่พิพาทให้จำเลยไม่ถูกต้องเพราะก่อนรังวัดได้กันเขตถนนวัดกิ่งแก้วออกเสียก่อน แล้วรังวัดเอาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 (เข้าใจว่าเป็นจำเลยที่ 3) เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 85 วา เป็นของจำเลยที่ 4 (เข้าใจว่าเป็นจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7) เนื้อที่ 41 ไร่ 25 วา โดยไม่รวมเนื้อที่ที่ถูกตัดถนนเข้าไปด้วย ปล่อยให้เนื้อที่ที่ถูกตัดเป็นถนนตกเป็นภาระอยู่แก่โจทก์เป็นการไม่ชอบเอาเปรียบโจทก์ ควรสั่งให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ทำการรังวัดใหม่ให้จำเลยดังกล่าวได้ตามเนื้อที่ที่กล่าวข้างต้น ที่เหลือตกเป็นของโจทก์แล้วจึงตัดถนนตามแนวเขตในภายหลังถนนตัดเข้าไปในเขตการครอบครองของใครก็เป็นโทษแก่ฝ่ายนั้นจึงจะเป็นธรรม

พิเคราะห์แล้ว เรื่องการรังวัดแบ่งที่พิพาทระหว่างโจทก์จำเลยนี้ได้เคยเป็นความกันจนถึงศาลฎีกา ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 183, 184/2510 ซึ่งศาลพิพากษาว่า รูปแผนที่แบ่งแยกที่ช่างแผนที่สำนักงานที่ดินทำมานั้นถูกต้องตรงกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยแล้ว จึงให้โจทก์จัดการแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ไปตามรูปแผนที่แบ่งแยกดังกล่าว หากโจทก์ไม่จัดการแบ่งแยก ก็ให้มีหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการจัดการแบ่งแยกให้ต่อไป ดังนี้ เห็นว่า ข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกา ซึ่งได้เคยพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโจทก์จะฎีกาคัดค้านเช่นนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 100 บาท และแทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7เป็นเงิน 100 บาท

Share