คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสมรู้ร่วมคิดในการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือรู้แล้วว่ามีผู้คิดจะปลงพระชนม์ ช่วยปกปิดไม่เอาความไปร้องเรียนจนมีเหตุปลงพระชนม์ขึ้น เป็นความผิดตาม มาตรา 97 ตอน 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 นายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 กับพรรคพวกที่ยังหลบหนีอยู่ บังอาจสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์พระมหากษัตริย์ในรัชการที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ต่างกรรมต่างวาระกัน คือ

ก. เมื่อระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2489 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 จำเลยทั้ง 3 นี้กับพรรคพวก สมคบกันคิดการตระเตรียมและกระทำการปลงพระชนม์พระองค์ท่าน โดยประชุมปรึกษาวางแผนการณ์ตกลงกันในอันที่จะทำการปลงพระชนม์ และให้ผู้ใดรับหน้าที่ร่วมกันไปกระทำการปลงพระชนม์ แล้วจำเลยทั้ง 3 ช่วยปกปิด ไม่นำความไปร้องเรียน เหตุเกิดที่ตำบลชนะสงคราม ท้องที่อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร

ข. วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลากลางวัน นายชิตและนายบุศย์จำเลยกับพรรคพวกสมคบกันกระทำการปลงพระชนม์พระองค์ท่านโดยใช้อาวุธปืนยิง 1 นัด ถูกพระนลาตทะลุเบื้องหลังพระเศียร ในขณะบรรทมอยู่บนพระที่ เป็นเหตุให้เสด็จสวรรคตทันที ขณะที่จำเลยกับพวกจะได้กระทำการปลงพระชนม์ดังกล่าว นายชิต นายบุศย์ได้ร่วมรู้อยู่ในที่นั้นด้วย จงใจไม่ถวายความพิทักษ์ตามหน้าที่มหาดเล็กห้องพระบรรทม กลับบังอาจเป็นใจช่วยเหลือให้ช่องโอกาสแก่พรรคพวกอันเป็นการอุปการะในการประทุษร้ายนั้นได้สำเร็จและปกปิดไม่นำความไปร้องเรียน เหตุเกิด ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ค. วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลากลางวัน ภายหลังที่ถูกปลงพระชนม์แล้ว นายชิตบังอาจเพทุบายเอาปลอกกระสุนปืน 1 ปลอกส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกล่าวเท็จว่าเก็บได้ใกล้พระแท่นบรรทมในขณะถูกประทุษร้าย ประสงค์จะให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อไปในทางที่เป็นเท็จว่าเป็นปลอกกระสุนปืนที่ได้ยิงในวันนั้นจากปืนกระบอกหนึ่งซึ่งวางอยู่ใกล้พระกรเบื้องซ้าย และเพื่อจะให้หลงเชื่อต่อไปว่า ทรงใช้ปืนกระบอกนั้นประทุษร้ายพระองค์ท่านเอง ความจริงปืนกระบอกนั้นหาได้ใช้ยิงในวันนั้นไม่ และไม่ใช่กระบอกที่ใช้ประทุษร้าย ทั้งนี้โดยนายชิตรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ ด้วยเจตนาช่วยพรรคพวกให้พ้นอาญา และปกปิดมิให้ความปรากฏว่า ได้มีผู้ประทุษร้ายพระองค์ท่าน เหตุเกิด ณ พระที่นั่งบรมพิมาน

ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 97-154-63-64-70และ 71

จำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ และว่า เหตุที่จำเลยถูกกล่าวหานี้เพราะมีบุคคลบางจำพวกฉวยโอกาสการสวรรคตเล่นเป็นเกมการเมืองเพื่อทำลายล้างบุคคลอื่น มีอาทิเช่น นายปรีดี พนมยงค์ นายเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช นายเฉลียว ปทุมรส และพลอยไปถึงนายชิตนายบุศย์ด้วย

ศาลอาญาพิจารณาพิพากษาว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยถูกผู้ร้ายลอบปลงพระชนม์ นายชิตรู้เห็นร่วมมือกับผู้ร้ายรายนี้ด้วยความผิดของนายชิตต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 97 ตอน 2 ส่วนข้อขอให้ลงโทษนายชิตตามมาตรา 154 ในข้อหาว่าสับเปลี่ยนปลอกกระสุนของกลาง โดยกล่าวเท็จแก่เจ้าหน้าที่เพื่อช่วยผู้กระทำผิดนั้น ทางพิจารณาก็ได้ความสม แต่เป็นความผิดที่เกลื่อนกลืนอยู่ในความผิดประธานข้างต้น ไม่พึงแยกกระทงลงโทษอีกได้ จึงลงโทษนายชิต จำเลย ตามมาตรา 97 ตอน 2 บทเดียวให้ประหารชีวิต ส่วนนายเฉลียวและนายบุศย์ จำเลย คดียังไม่มีหลักฐานให้พอฟังว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วย ให้ยกฟ้อง

นายชิต จำเลย อุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยอีก 2 คนด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ลงโทษประหารชีวิตนายบุศย์ จำเลยตามมาตรา 97 ตอน 2 ด้วยอีกคนหนึ่ง ส่วนนายชิต นายเฉลียวจำเลยคงยืนตามเดิม แต่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษานายหนึ่งว่าควรยกฟ้อง ปล่อยจำเลยทั้งสามคน

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษนายเฉลียว จำเลย โดยอธิบดีกรมอัยการรับรอง

นายชิต นายบุศย์ จำเลย ฎีกา ขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกานั่งฟังคำแถลงของฝ่ายโจทก์จำเลย ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว

ตามคำแถลงของจำเลยเป็นใจความว่า การแต่งตั้งรัฐบาลเนื่องจากการกระทำรัฐประหาร เป็นการไม่ชอบ ฉะนั้นการสอบสวนตลอดจนการฟ้องร้องจำเลยในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยนั้น เห็นว่าความข้อนี้ศาลล่างทั้ง 2 ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า โจทก์ฟ้องคดีได้ และศาลนี้ก็ได้เคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 คดีระหว่างนายทองเย็น หลีละเมียร โจทก์ กระทรวงการคลังฯ จำเลย ว่ารัฐบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหารเป็นรัฐบาลที่ชอบ ฉะนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ จะได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไป

ทางพิจารณาได้ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระราชอนุชาเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน พระองค์ท่านประทับอยู่ทางริมฝ่ายด้านตะวันออก ส่วนอีก 2 พระองค์ประทับทางริมฝ่ายด้านตะวันตก นายชิตและนายบุศย์เป็นมหาดเล็กประจำห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายเฉลียวเป็นราชเลขานุการในพระองค์ และเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ประจำพระองค์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งนายปรีดีพ้นตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดีไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสมีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดิน ต่อมาได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากนายควง อภัยวงศ์ ตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 24 มีนาคม 2489

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติสู่พระนครแล้วทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานาประการเพื่อให้บังเกิดผลดีแก่ประเทศชาติพระองค์ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปในที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด เช่น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2488 เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรีพร้อมด้วยนายปรีดี พลโทพระศราภัยสฤษดิการสมุหราชองค์รักษ์ นายเฉลียว นายชิต ทอดพระเนตรการแสดงอาวุธของคณะพลพรรคเสรีไทย มีผู้น้อมเกล้าถวายอาวุธปืน กับของอื่นที่พลพรรคเสรีไทยใช้อยู่ทรงโปรดการหัดยิงปืนชนิดใหม่ ๆที่มีผู้น้อมเกล้าถวาย ต่อมาเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรตามจังหวัดต่าง ๆหลายแห่ง ทรงพระราชปฏิสันถารแก่ราษฎรที่มาเฝ้า ราษฎรถวายสิ่งของแม้เล็กน้อยก็ทรงยินดีรับ และโปรดเกล้าพระราชทานเงินก้นถุงให้เป็นสิริมงคล ผู้ใดทุกข์ร้อนก็ทรงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือครั้งสุดท้ายเสด็จประพาสท้องสำเพ็งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2489

ในด้านเกี่ยวกับการบริหารงานของประเทศชาติ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะทรงทราบและศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้เชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ปลัดกระทรวง และอธิบดีผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้า เพื่อเป็นโอกาสที่จะทรงซักถามกิจการในหน้าที่และแลกเปลี่ยนความรู้ในทางพระพุทธศาสนาก็ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอารามและตั้งพระราชหฤทัยจะทรงผนวช แม้ทางศาสนาอื่นก็อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยิ่งนานวันพระองค์ก็ยิ่งทรงได้รับความนิยมเป็นมิ่งขวัญที่เคารพสักการะอย่างประทับใจด้วยความชื่นชมโสมนัสของบรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทและพศกนิกร

โดยที่มีพระราชประสงค์จะทรงกลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีก กำหนดเสร็จวันที่ 13 มิถุนายน 2489 ตามที่โหรถวายพระฤกษ์ ในโอกาสนี้ รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้กราบทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศนั้น ๆ ด้วย

วันที่ 8 มิถุนายน 2489 ทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภีงดเสด็จงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาและงานที่กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เวลา 17.00 นาฬิกาหลวงนิตยเวชวิศิษฐ์ ถวายตรวจพระวรกาย ปรากฏมีพระอาการไข้เล็กน้อย ขอให้สมเด็จพระราชชนนีถวายพระโอสถ โนแวลยินแก้ไข้ 1 เม็ดตอนค่ำถวายสวนล้างพระนาภี ถวายยาอ๊อปตาลิดอนแก้เมื่อย และตอนเช้าถวายน้ำมันละหุ่งอีกครั้งหนึ่ง

ในวันที่ 8 นี้ พระอาการไม่มาก เสด็จไปเสวยพระกระยาหารเช้าและกลางวันอย่างปกติ ส่วนพระกระยาหารค่ำสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งให้จัดมาเสวยร่วมที่ห้องทรงพระสำราญ สมเด็จพระราชชนนีได้เฝ้าถวายพระโอสถและอื่น ๆ อยู่จนเสด็จเข้าที่พระบรรทม เมื่อเวลาประมาณ 21.00 นาฬิกา แล้วจึงเสด็จจากไป รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ ที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาราว 6.00 นาฬิกา สมเด็จพระราชชนนีเสด็จไปปลุกบรรทมรับสั่งถามว่าหลับดีไหม ทรงตอบว่าหลับดี สมเด็จพระราชชนนีถวายน้ำมันละหุ่งผสมกับบรั่นดี แล้วทรงรู้สึกว่ายังใคร่จะทรงบรรทมต่อ จึงถวายโอกาสโดยรีบเสด็จกลับไป ขณะนั้นมหาดเล็กห้องพระบรรทมยังไม่มีใครมา ต่อเวลา 7.00 นาฬิกาเศษนายบุศย์เวรประจำจึงมาและนั่งเฝ้าอยู่ตามหน้าที่ที่ระเบียงหน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์ ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ห้องพระบรรทม ครั้นเวลา 8.00 นาฬิกาเศษ นายชิตได้มานั่งอยู่คู่กับนายบุศย์

เวลาราว 9.00 นาฬิกา สมเด็จพระราชอนุชาเสด็จไปที่ระเบียงหน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์ รับสั่งถามนายชิต นายบุศย์ว่าในหลวงมีพระอาการเป็นอย่างไร ทรงได้รับคำตอบว่า ทรงสบายดีขึ้นเสด็จเข้าห้องสรงแล้ว สมเด็จพระราชอนุชาก็เสด็จกลับยังห้องพระบรรทมของพระองค์

ต่อนั้นมาเวลาไม่ถึง 9.00 นาฬิกา มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดภายในห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นสมเด็จพระราชชนนีจะเสด็จออกจากห้องบรรทมของพระองค์ไปเสวยพระกระยาหารเช้า นายชิตวิ่งไปกราบทูลว่า “ในหลวงยิงพระองค์” สมเด็จพระราชชนนีก็ทรงวิ่งไปทันที นายชิต นางสาวเนื่อง จินตดุลย์สมเด็จพระราชอนุชาและนางสาวจรูญ ตะละภัฏ ตามติด ๆ เข้าไปในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขณะนั้นปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหงายบนพระแท่นพระเศียรหนุนพระเขนยดุจบรรทมหลับอย่างปกติ มีผ้าดอกคลุมพระองค์อยู่เรียบตั้งแต่เหนือพระอุระตลอดลงไปจนถึงข้อพระบาทกึ่งกลางของผ้าอยู่กึ่งกลางของพระองค์พอดี ชายผ้าทั้งสองข้างล้ำพระองค์ออกมาพอ ๆ กัน ผ้าลาดพระยี่ภู่ปูอยู่เรียบดี พระเขนยคงอยู่ในที่ตามปกติ มีพระโลหิตไหลโทรมพระพักตร์ลงมาที่พระเขนยและผ้าลาดพระยี่ภู่ พระเศียรตะแคงไปทางด้านขวาเล็กน้อย เหนือพระโขนงซ้ายมีแผลกระสุนปืน หนังฉีกเป็นแฉกคล้ายเครื่องหมายคูณกว้างยาวประมาณ 4 เซ็นติเมตร พระเนตรทั้งสองหลับสนิท ไม่ได้ทรงฉลองพระเนตรฉลองพระเนตรวางอยู่บนโต๊ะเล็กข้างประแท่น พระเกษาแสกเรียบอยู่ในรูปที่เคยทรง พระโอษฐ์ปิด พระกรทั้งสองเหยียดทอดทับนอกผ้าคลุมพระองค์แนบพระวรกายตามปกติ พระหัตถ์ทั้งสองแบอยู่ในท่าธรรมดาพระบาททั้งสองเหยียดทอดชิดกันอยู่ห่างจากปลายพนักพระแท่นประมาณ 7 เซ็นติเมตร มีปืนของกลางขนาด 11 ม.ม. วางอยู่ข้างพระกรซ้ายลำกล้องขนานและห่างพระกร 1 นิ้ว ปากกระบอกหันไปทางพระบาทศูนย์ท้ายของปืนอยู่ตรงระดับข้อพระกร (ข้อศอก)

นางสาวเนื่องเห็นพระวรกายแน่นิ่งไม่ไหวติง จึงเข้าจับชีพจรที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย ยังเต้นแรงและเร็วอยู่สักครึ่งหรือหนึ่งนาทีก็หยุดเต้นแล้วนางสาวเนื่องใช้ 3 นิ้วจับกลางกระบอกปืนนั้นขึ้นวางบนหลังตู้เล็กข้างพระแท่น รู้สึกว่ากระบอกปืนไม่ร้อนไม่เย็นและไม่มีอะไรเปื้อนเปรอะ การที่หยิบย้ายปืนไปเสียนั้นเพราะเกรงจะไม่ปลอดภัยแก่สมเด็จพระราชชนนีซึ่งยังคงซบพระพักตร์อยู่ที่พระชงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต่อมาราว 20 นาที หลวงนิตย์ฯ ไปถึงตรวจพระอาการแล้วทูลว่าไม่มีหวัง สมเด็จพระราชชนนีก็รับสั่งให้แต่งพระบรมศพ

โจทก์นำสืบต่อไปว่า เวลาราว 10.00 นาฬิกา เมื่อ ม.ร.ว.เทวาธิราชทราบข่าวการสวรรคต แล้วได้ไปพบนายปรีดีที่ศาลาท่าน้ำทำเนียบท่าช้าง บอกว่า สวรรคตแล้ว นายปรีดีร้อง “เอ๊ะอะไรกัน” มีท่าทางสะดุ้งตัวแสดงว่าตกใจ ม.ร.ว.เทวาธิราชตอบว่าไม่ทราบอีกสัก 15 นาที ม.จ.นิกรเทวัญซึ่งถูกเรียกก็มาถึง เวลานั้นนายปรีดีแต่งตัวเสร็จแล้ว กำลังเดินอยู่หน้าตึกรับแขก ม.จ.นิกรเทวัญเข้าไปหานายปรีดีแล้วเงยหน้าเป็นเชิงถาม พอไปชิดตัว นายปรีดีพูดเป็นภาษาอังกฤษพอให้ได้ยินเฉพาะตัว แปลเป็นไทยว่าในหลวงปลงพระชนม์พระองค์เอง และพูดต่อไปว่า รอท่านอยู่นะซี รีบเข้าไปในวังด้วยกันแล้วก็พากันเข้าไปในพระที่นั่งบรมพิมานพร้อมทั้งพันเอกช่วงเชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลตำรวจโทพระรามอินทราอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งสองคนหลังนี้ได้ไปอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างก่อนตั้งแต่เช้าแล้ว

ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธุยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกฎ กับข้าราชการผู้ใหญ่อีกหลายท่านก็เสด็จและไปถึงทะยอย ๆ กัน

นายปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและว่าการสำนักพระราชวัง ให้เรียกตัวนายชิต นายบุศย์ นางสาวเนื่องมาถาม

นายชิตให้ถ้อยคำในเวลานั้นว่า ในหลวงยิงพระองค์ นายปรีดีให้ทำท่าให้ดู นายชิตจึงลงนอนหงายมือจับปืนทำท่าส่องที่หน้าผากม.จ.ศุภสวัสดิ์ซึ่งอยู่ในที่นั้นรับสั่งว่าปืนอย่างนี้ยิงเองที่พระนลาตอย่างนั้นไม่ได้จึงปรึกษากันว่าจะออกคำแถลงการณ์อย่างไรดี นายปรีดีพูดว่า ออกแถลงการณ์ว่าสวรรคตเพราะพระนาภีเสียได้ไหม หลวงนิตย์ฯ ตอบว่าออกเช่นนั้นผมไปก่อนเพื่อนแน่เพราะเมื่อวานนี้ยังดี ๆ อยู่ วันนี้สวรรคตไม่ได้ พันเอกช่วงว่าถ้าอย่างนั้นเอาเป็นโรคหัวใจได้ไหม หลวงนิตย์ฯ ตอบว่าไม่ได้เหมือนกัน เพราะอย่างไรคนก็ต้องทราบความจริง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรรับสั่งว่า เห็นจะต้องแถลงตามความจริงนายปรีดีว่า เพื่อถวายพระเกียรติให้ออกแถลงการณ์ว่าเป็นอุบัติเหตุจึงได้ออกคำแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังเป็นฉบับแรกลงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 มีข้อความดังนี้

“ด้วยนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน ศกนี้เป็นต้นมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มทรงพระประชวรเกี่ยวแก่พระนาภีไม่เป็นปกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง แม้กระนั้นก็ดีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนราษฎรเป็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ ครั้นต่อมาพระอาการเกี่ยวกับพระนาภีก็ยังมิได้ทุเลาลง จึงต้องเสด็จประทับอยู่แต่บนพระที่ มิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ 9 มิถุนายน ศกนี้ เมื่อตื่นพระบรรทมตอนเช้าเวลา 6.00 นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถน้ำมันละหุ่งแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวันแล้วก็เสด็จเข้าพระที่ครั้นเวลาประมาณ 9.00 นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่ง จึงรีบวิ่งเข้าไปดู เห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีพระโลหิตไหลเปื้อนพระองค์และสวรรคตเสียแล้วมหาดเล็กห้องพระบรรทมจึงได้ไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีให้ทรงทราบแล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพต่อนั้นมามีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ได้เข้าไปกราบถวายบังคม และอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ได้ไปถวายตรวจพระบรมศพและสอบสวน ได้ความสันนิษฐานได้ว่า คงจะทรงจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น”

เกี่ยวกับบาดแผลที่พระบรมศพ ครั้งแรกหลวงนิตย์ไม่ได้พบแผลทางเบื้องหลังพระเศียร เข้าใจว่ามีแผลทางพระนลาตด้านเดียวบรรดาท่านที่ประชุมกันอยู่พลอยเข้าใจเช่นนั้น ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 10 เจ้าหน้าที่จากสภากาชาดมาแต่งพระบรมศพ เพื่อเตรียมการสรงน้ำพระบรมศพในตอนเย็น จึงได้พบแผลที่เบื้องหลังพระเศียรอีกแผลหนึ่งตรงท้ายทอยมีพระเกษาปกคลุมบาดแผล ทำให้แลเห็นเป็นแผลเล็กกว่าแผลที่พระนลาต จึงมีเสียงกล่าวกันว่า ถูกยิงทางเบื้องหลังพระเศียรทะลุออกทางพระนลาต

โดยเหตุที่มีเสียงครหาว่า คำแถลงการณ์ฉบับแรกไม่ถูกต้องต่อความจริง นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีและพระบรมวงศานุวงศ์ได้ประชุมกันพิจารณารายงานของอธิบดีกรมตำรวจ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน แล้วได้ออกเป็นคำแถลงการณ์ของกรมตำรวจในวันที่ 10 มิถุนายน2489 มีข้อความพิศดารประกอบคำแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังเพื่อจะให้ฟังได้หนักแน่นยิ่งขึ้น โดยอ้างการสอบสวนอย่างกว้างขวางตั้งเป็นข้อสังเกต 3 ประการ คือ 1. มีผู้ลอบปลงพระชนม์ 2. ทรงปลงพระชนม์เอง หรือ 3. อุบัติเหตุ

คำแถลงการณ์นั้นอ้างว่า ตามทางสอบสวน ไม่มีกรณีเหตุอันใดที่น่าสงสัยในทางลอบปลงพระชนม์ทั้งไม่มีเหตุอันใดจะส่อให้เห็นว่าพระองค์ทรงปลงพระชนม์เอง แต่มีพฤติการณ์ควรให้สันนิษฐานว่าคงจะทรงหยิบพระแสงปืนมาลูบคลำเล่นตามพระอัธยาศัยที่โปรดเช่นเคยโดยมิได้ทรงตรวจก่อน คงจะทรงหันปากลำกล้องขึ้นส่องดู แล้วนิ้วพระหัตถ์ต้องไกปืนกระสุนปืนลั่นไปถูกพระนลาต จึงเกิดอุบัติเหตุขึ้น

รุ่งขึ้นวันที่ 11 กรมตำรวจออกแถลงการณ์เป็นฉบับที่ 2 ดังนี้ได้ความในการสอบสวนเพิ่มเติมจากพระราชกิจประจำวันว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล เข้าเฝ้าในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลา 10.00 นาฬิกา เพื่อกราบบังคมทูลลาทรงผนวช กับนัดให้หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายวงศ์ เชาวนะกวีไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า จะเสด็จไปทูลลาเสด็จสหรัฐอเมริกาณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศน์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2489 อันเป็นหลักฐานเพิ่มเติมข้อสันนิษฐาน ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ว่าการสวรรคตได้เป็นไปโดยอุบัติเหตุ ไม่มีทางส่อแสดงว่า ทรงปลงพระชนม์เอง

แต่อย่างไรก็ดี คำแถลงการณ์ยังไม่เพียงพอที่จะระงับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของหมู่ประชาชนซึ่งยิ่งแพร่สะพัดออกไปทุกทีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จสวรรคตโดยอุบัติเหตุแต่ถูกลอบปลงพระชนม์ ถึงกับมีผู้ไปร้องตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่านายปรีดีฆ่าในหลวง เป็นเหตุให้รัฐบาลเกรงจะเกิดจลาจล จึงได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีออกประกาศเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2489 ความว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบรมนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้อนุมัติให้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่สอบสวนพฤติการณ์ในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต แล้วให้เสนอรายละเอียดและความเห็นเพื่อนำความกราบบังคมทูลต่อไป ให้อธิบดีกรมตำรวจนำพยานมาสอบสวนต่อหน้ากรรมการ

ในการนี้ได้ขอพระบรมราชานุญาตเปิดพระบรมโกษฐ์ตรวจชันสูตรพระบรมศพโดยถี่ถ้วนและทำการทดลองยิงศพคนที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อทราบระยะยิงที่จะให้เกิดบาดแผลเช่นบาดแผลที่พระบรมศพ

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคตที่เรียกกันว่าศาลกลางเมืองสอบสวนเสร็จแล้วรายงานเสนอความเห็นว่า สำหรับกรณีอุบัติเหตุ ไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้เลย ส่วนกรณีถูกลอบปลงพระชนม์ไม่มีพยานหลักฐาน แต่ก็ไม่สามารถจะตัดออกเสียได้ เพราะท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่ในกรณีทรงปลงพระชนม์เองนั้น ไม่ปรากฏเหตุผลและหลักฐานอย่างใดว่าได้เป็นเช่นนั้นโดยแน่ชัด คณะกรรมการไม่สามารถชี้ขาดว่า เป็นกรณีหนึ่งกรณีใดในสองกรณีนี้ ตกเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการสืบสวนและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วย พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น (สืบต่อจากนายปรีดี) และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เห็นพ้องด้วยความเห็นของคณะกรรมการ เรื่องจึงถูกส่งไปยังกรมตำรวจเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2489 พลตำรวจตรีพระพิจารณ์พลกิจ อธิบดีตรวจสำนวนเท่าที่มีอยู่ในเวลานั้นแล้วมีความเห็นว่ายังไม่พอที่จะวินิจฉัย จึงสั่งตั้งกรรมการขึ้นดำเนินการตรวจสำนวนและสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วให้เสนอความเห็นต่อกรมตำรวจโดยด่วน แต่กรณีก็ยังไม่คลี่คลาย จนกระทั่งเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 พลตำรวจตรี หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้ออกคำสั่งตั้งนายตำรวจ 10 นาย เป็นพนักงานสอบสวนกรณีนี้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2490 มีพันตำรวจเอกเนื่อง อาขุบุตร เป็นหัวหน้าในคำสั่งท้าวความว่า “โดยที่ทางราชการฝ่ายทหารได้ส่งหลักฐานแผนการณ์ของบุคคลคณะหนึ่งสมคบกันดำเนินการประทุษร้ายองค์พระมหากษัตริย์ มีการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และเตรียมการเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดินโดยทำลายล้างรัฐบาล มาให้กรมตำรวจสอบสวนดำเนินคดี”

วันที่ 8 ธันวาคม 2490 กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งให้พันตำรวจโทหลวงแผ้วพาลชน เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนแทนพันตำรวจเอกเนื่อง

ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งให้พลตำรวจตรีพระพินิจชนคดี เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีสวรรคต และคงให้หลวงแผ้วพาลชน เป็นพนักงานสอบสวนต่อไปด้วย

เมื่อเกิดรัฐประหารแล้วไม่กี่วัน จำเลยทั้ง 3 นี้ก็ถูกจับกุมคุมขังตลอดจนถูกฟ้อง นอกจากจำเลย 3 คนนี้ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรหัวหน้ากองมหาดเล็ก และนางชอุ่ม ชัยสิทธิเวช ภรรยาเรือเอกวัชรชัยก็ได้ถูกจับมาด้วย แต่แล้วก็พ้นข้อหาไปในชั้นสอบสวนส่วนนายปรีดีและเรือเอกวัชรชัยหลบหนีไปในคืนที่เกิดรัฐประหารจนกระทั่งบัดนี้

โจทก์ตั้งรูปคดีและนำสืบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตโดยถูกลอบปลงพระชนม์ แต่พยานบุคคลที่ได้รู้เห็นเป็นประจักษ์ขณะลอบปลงพระชนม์ไม่มีสืบ มีแต่หลักฐานพยานแวดล้อมกรณีต่าง ๆ แสดงว่าจำเลยเหล่านี้สมคบกับพรรคพวกที่ยังหลบหนีอยู่ซึ่งได้แก่นายปรีดีและเรือเอกวัชรชัย กระทำการปลงพระชนม์

ประเด็นเบื้องต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตโดยถูกลอบปลงพระชนม์จริงหรือประการใด

พระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่ระโหฐาน อยู่ในพระบรมมหาราชวังมีทหารยามและเจ้าหน้าที่ประจำ ตามธรรมดาผู้ร้ายไม่น่าสามารถจะเล็ดลอดเข้าไปกระทำการเช่นนั้นได้ แต่ถ้าได้ใช้ความพยายามและความรู้ถึงลู่ทางเข้าออกตลอดจนความเป็นอยู่ของทหารยามและเจ้าหน้าที่ประจำว่าไม่เข้มงวดกวดขันแล้ว ผู้ร้ายก็อาจเข้าไปกระทำการสำเร็จได้หรือถ้ามีคนภายในรู้เห็นเป็นใจด้วย หรือคนที่อยู่ภายในนั้นเป็นผู้ร้ายเสียเอง การก็ยิ่งสะดวกง่ายดายเป็นอันมาก

รัฐบาลในสมัยเกิดเหตุ แม้จะได้ตั้งศาลกลางเมืองขึ้น ก็มีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นกรณีอุบัติเหตุหรือปลงพระชนม์เอง ทางพิจารณาได้ความว่า นายปรีดีเป็นผู้ให้ส่งคำซักถามพยานมาจากทำเนียบท่าช้างสำหรับนายตำรวจผู้มีหน้าที่ใช้ซักถามพยาน เมื่อรัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่ามิใช่กรณีถูกลอบปลงพระชนม์แล้ว การที่จะสืบสวนหาพยานหลักฐานไปในทางถูกลอบปลงพระชนม์ก็ย่อมไม่มี

ปรากฏในทางพิจารณาว่า มีคำสั่งของรัฐบาล ในการสืบสวนและสอบสวน ถ้าจะต้องจับกุมผู้ใดต้องได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีก่อน

อนึ่ง มีประกาศเป็นทางการให้ผู้ที่รู้เรื่องการสวรรคตมาแจ้งแก่เจ้าพนักงาน แต่ถ้าผู้ใดยืนยันรู้เรื่องว่าเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ก็ย่อมเป็นภัยแก่ตน ดังเช่นเมื่อพันเอก พระยาวิชิตสรศาสตร ร้องเรียนว่าเป็นกรณีลอบปลงพระชนม์ โดยพาซื่อหลงเชื่อตามประกาศ ก็กลับถูกจับกุมฟ้องร้องหาว่าร้องเรียนเท็จ อ้างว่าจะก่อให้เกิดจลาจลเป็นต้น

ทั้งเป็นที่รู้กันอยู่ในพระราชสำนักว่า ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์กรณีสวรรคต

เมื่อทางราชการปฏิบัติดังนี้ ก็เป็นการตัดหนทางของพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์

ได้ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องกระสุนปืนขณะบรรทมหงายอยู่บนพระที่ ตามคำเบิกความของนายแพทย์ที่กระทำการชันสูตรพระบรมศพและจากผลของการทดลองยิงศพที่โรงพยาบาลศิริราชว่า กระสุนปืนแล่นเจาะพระนลาตทะลุออกทางเบื้องหลังพระเศียรตรงท้ายทอยผ่านสมอง ส่วนหน้าออกทางส่วนหลัง เป็นการทำลายสมองโดยตรง เป็นผลให้หมดความรู้สึก และหมดกำลังทันทีที่จะเคลื่อนไหวกำลังหายใจเข้าอยู่ก็คงจะหายใจเข้าไปตามธรรมดาอีกเฮือกหนึ่งถ้ากำลังหายใจออกอยู่ก็ไม่มีการหายใจออกได้ หัวใจอาจเต้นต่อไปได้อีกนิดหน่อยราวครึ่งนาทีหรือกว่าสักเล็กน้อย นัยน์ตาถ้าลืมอยู่ก็คงลืมอยู่อย่างเดิม ถ้าหากหลับก็คงหลับอยู่อย่างเดิมเหมือนกันอาการอย่างนี้แสดงว่าเสด็จสวรรคตทันที ในขณะต้องกระสุนปืน

ดังนี้ คดีจึงฟังได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตทันทีที่ต้องกระสุนปืน

การเสด็จสวรรคตโดยทันทีเช่นนี้ ได้ความตามคำพยานที่เป็นแพทย์หลายปากว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องกระทำพระองค์เอง เพราะท่าทางของพระหัตถ์และพระกรทั้งสองข้างไม่งอหรือกำ ถ้าเป็นการปลงพระองค์เองหรืออุบัติเหตุโดยการกระทำของพระองค์เองแล้ว พระหัตถ์และพระกรจะไม่เป็นเช่นนั้นเป็นเด็ดขาด

คดีได้ความชัดว่า เมื่อต้องกระสุนปืนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ดุจบรรทมหลับ พระกรทั้ง 2 ข้างทอดเหยียดชิดพระวรกาย พระภูษาที่คลุมพระองค์ก็อยู่ในสภาพเรียบร้อยดังกล่าวมาแล้ว

จึงฟังได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องกระสุนปืนสวรรคตโดยมิใช่การกระทำของพระองค์ท่าน

นอกจากนี้ โจทก์ยังสืบถึงว่า ปืนกระบอกที่วางอยู่ใกล้พระหัตถ์ขณะเสด็จสวรรคตไม่ใช่กระบอกที่ใช้ยิงพระองค์ท่าน เพราะโดยการพิสูจน์ปรากฏว่า ได้ใช้ยิงมาก่อนวันเกิดเหตุหลายวันแล้วและหัวกระสุนที่เก็บได้ในพระยี่ภู่ก็ไม่ใช่กระสุนที่ทะลุผ่านพระเศียรเพราะมีลักษณะเรียบร้อยไม่มีรอยยับเยิน

ผู้ร้ายในคดีนี้มิได้คิดมุ่งมาตร์ปรารถนาแก่ทรัพย์สินอย่างใดในห้องพระบรรทม ไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินสิ่งของอย่างใดได้ขาดหายไป

โจทก์นำสืบพฤติการณ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนายปรีดีว่า มีข้อขัดแย้งกันในการจะตั้งใครเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถึงกับนายปรีดีได้พูดกับนายวงศ์ เชาวนะกวี เมื่อก่อนสวรรคตเพียงวันเดียว เป็นภาษาไทยปนอังกฤษความว่า ต่อไปนี้จะไม่คุ้มครองราชบัลลังก์

นายเฉลียวและเรือเอกวัชรชัย ทั้งสองนี้เป็นผู้ที่ฝักไฝ่ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายปรีดีเป็นอย่างมาก นายปรีดีจัดให้นายเฉลียวได้เข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญในราชสำนัก ส่วนเรือเอก วัชรชัย ซึ่งออกจากราชการไปแล้วก็ได้เข้ามารับราชการเป็นราชองครักษ์

ส่วนนายชิตและนายบุศย์ มหาดเล็กรับใช้ประจำห้องพระบรรทมก็อยู่ภายใต้อำนาจของนายเฉลียว เฉพาะนายชิตนั้น ยังเป็นผู้สนิทชิดชอบกับนายเฉลียวเป็นพิเศษอีกด้วย โจทก์นำสืบต่อไปว่า เนื่องจากนายเฉลียวขาดความเคารพยำเกรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้นว่า ส่งรถยนต์ประจำพระองค์ไปให้ผู้อื่นใช้ จนขัดข้องแก่การที่จะทรงใช้ นั่งรถยนต์ไขว่ห้างล่วงล้ำเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่ง ถวายหนังสือราชการด้วยอาการขาดคารวะ จูบหญิงพนักงานในที่ทำการ ซึ่งอยู่ตรงหน้าพระที่นั่งพระบรมพิมาน จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็น เหล่านี้เป็นการเหยียดหยามพระราชประเพณีและพระองค์ท่าน ไม่เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยทรงรับสั่งแก่นายปรีดีขอเปลี่ยนราชเลขานุการนายเฉลียวจึงจำต้องออกจากตำแหน่งในราชสำนักไปตั้งแต่ตอนต้น ๆเดือนพฤษภาคม 2489 แล้วต่อมานายเฉลียวก็ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสืบต่อไป

ส่วนเรือเอก วัชรชัย มิได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ราชองค์รักษ์ตามสมควร ขาดราชการบ่อย ๆ ฝักใฝ่อยู่ทางทำเนียบท่าช้าง ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ภายหลังที่ถูกปลดจากตำแหน่งราชองครักษ์แล้ว ก็ได้เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป

ในระหว่างที่นายเฉลียวเป็นราชเลขานุการในพระองค์ มีข้าราชการในราชสำนักเข้าฝักใฝ่เป็นพรรคพวก ทั้งนายเฉลียวยังได้จัดพรรคพวกของตนเข้ามารับราชการเพิ่มเติมอีก ถึงกับเมื่อคราวที่นายเฉลียวจะพ้นหน้าที่ พวกข้าราชการประเภทที่กล่าวมานี้ มีนายนเรศร์ธิรักษ์นายกำแพง ตามไทย เป็นหัวหน้าพร้อมใจกันกล้าแสดงออกอย่างเปิดเผยทำเรื่องราวถึงนายปรีดีคัดค้านว่า ไม่ควรปลดนายเฉลียวซึ่งเป็นการทนงจงใจที่จะขัดขวางพระราชประสงค์โดยตรง ถ้าพวกนั้นไม่มีนิสัยหยาบช้า ก็คงไม่กล้าขัดแย้งพระราชประสงค์อันเกี่ยวกับกิจการในราชสำนักของพระองค์ท่านถึงปานนั้น

นายนเรศร์ธิรักษ์ผู้นี้เป็นหัวหน้ากองมหาดเล็กโดยนายปรีดีเป็นผู้แต่งตั้งให้แทนเจ้าหมื่นสรรเพ็ชรภักดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เป็นผู้ไม่ได้ราชการ จึงให้ไปทำหน้าที่อื่น ต่อมานายปรีดีก็จัดให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป

อาจเป็นเพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วหรืออย่างใดไม่ปรากฏชัดนายฉันท์ หุ้มแพร ผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงวิตกกังวลเป็นห่วงพระองค์นักว่าจะทรงเป็นอันตราย ถึงแก่พกปืนและคอยระแวดระวังเฝ้าพระองค์ท่าน แต่นายฉันท์ก็มาตายเสียก่อนและเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จสวรรคตแล้วไม่ถึง 7 วันพันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม พูดกับหลวงนิตย์ฯ ว่าถ้ามีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีให้ช่วยกราบทู

Share