คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) นั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวได้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 200,000 บาท ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2546 เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แม้จำเลยจะนำเงินมาวางแล้วบางส่วนจำนวน 100,000 บาท และส่วนที่เหลือขอขยายระยะเวลาวางเงินต่อไปอีกก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินอีก จำเลยก็ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาวางภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไปอีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 113582 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนกว่าจะครบ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวทำการขายทอดตลาดได้เงินจำนวน 4,000,000 บาท
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน และผู้ซื้อทรัพย์ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยวางเงินหรือหาประกันต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อทรัพย์ที่อาจจะได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินจำนวน 200,000 บาท มาวางเป็นประกันต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2545 ต่อมาจำเลยขอขยายระยะเวลาวางเงินดังกล่าวต่อไปอีก 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้ขยายระยะเวลาวางเงินภายในวันที่ 3 มีนาคม 2546 เมื่อถึงวันครบกำหนดตามที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาวางเงินให้ จำเลยแถลงขอนำเงินมาวางเป็นประกันต่อศาลจำนวน 100,000 บาท และขอขยายระยะเวลาวางเงินที่เหลือต่อไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะขอขยายระยะเวลาวางเงินให้จำเลยอีก จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต และมีคำสั่งว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า ให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ และให้คืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินประกันส่วนที่เหลือ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) นั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 200,000 บาท ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2546 เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แม้จำเลยจะนำเงินมาวางแล้วบางส่วนจำนวน 100,000 บาท และส่วนที่เหลือขอขยายระยะเวลาวางเงินต่อไปอีกก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินอีก จำเลยก็ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาวางภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลย ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share