คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนเกินกว่า 2000 บาท ศาลชั้นต้นตัดสินให้ใช้เพียง 1600 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีการับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อเท็จจริง
เพียงแต่ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทอนุมัติบัญชีงบดุลย์การอนุมัติไม่ทำให้กรรมการบริษัทผู้จ่ายเงินไปโดยมิชอบได้พ้นจากความรับผิดในการจ่ายเงินนั้นต่อบริษัท เพราะเป็นการอนุมัติแต่งบดุลย์มิได้อนุมัติในกิจการที่ทำไปโดยตรง
โจทก์ฟ้องเรียกเงินหลายประเภท จำเลยตัดฟ้องข้ออายุความแต่มิได้กล่าวอ้างบทและกำหนดเวลาไว้ ถือว่าไม่เป็นข้อต่อสู้อย่างใดเลย

ย่อยาว

จำเลยเป็นกรรมการจัดการอำนวยการบริษัทโจทก์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ่ายเงินของบริษัทไปโดยนอกหน้าที่และกิจการของบริษัท และจ่ายไปโดยความประมาทเลินเล่อหลายครั้งหลายคราว จึงขอให้จำเลยใช้เงินนั้นรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๑๓๑ บาท ๙๔ สตางค์แก่บริษัทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าการที่ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทอนุมัติบัญชีงบดุลย์ไม่เป็นการอนุมัติกิจการที่จำเลยกระทำไปดังจำเลยอ้าง จำเลยต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความในข้อนี้จำเลยมิได้กล่าวอ้างประเภทและกำหนดเวลาขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้อันจะยกขึ้นพิจารณาได้ แม้จะอ้างมาตรา ๑๑๗๐ ที่ว่ามิให้ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีพ้น ๖ เดือนนับแต่วันที่ประชุมใหญ่อนุมัติก็ไม่เป็นข้อต่อสู้อย่างใดเพราะคดีนี้เป็นคดีระหว่างบริษัทกับจำเลย ในที่สุดฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินรวม ๑๖๐๐ บาท ๖๙ สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์(ฟังข้อเท็จจริงให้โจทก์ชนะไม่เต็มฟ้อง)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเงิน ๓ จำนวนรวมเป็นเงิน ๑๖๐๐ บาท ๖๙ สตางค์นี้รายหนึ่งจำเลยจ่ายไปโดยไม่ถูกต้อง รายหนึ่งจ่ายโดยไม่สุจริตและอีกรายหนึ่งจ่ายไปเป็นการส่วนตัวจริง และเห็นว่าประมวลแพ่งฯ ม.๑๑๗๐ ที่บัญญัติว่าเป็นการที่กรรมการทำไปโดยได้รับอนุมัติที่ประชุมใหญ่แล้วกรรมการผู้นั้นไม่ต้องรับผิดนั้น ในข้อนี้เห็นว่า เมื่อการประชุมใหญ่หาได้มีการเสนอรายการต่อที่ประชุมไม่ คงมีแต่บัญชีงบดุลย์ ที่ประชุมใหญ่อนุมัติแต่งงบดุลย์ประจำปีเท่านั้น หาได้อนุมัติในกิจการที่จำเลยทำไปโดยมิชอบไม่ จำเลยจึงยังต้องรับผิดในเงินเหล่านี้อยู่ ข้อตัดฟ้องเรื่องอายุความโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในจำนวนเงินหลายประเภท จำเลยไม่กล่าวอ้างบทและกำหนดเวลาขึ้นต่อสู้อย่างไรโดยชัดเพียงกล่าวลอย ๆ ว่าจำเลยได้รับอนุมัติที่ประชุมแล้ว ถึงแม้จะอ้างมาตรา ๑๑๗๐ ก็ไม่เป็นข้อต่อสู้อย่างใด เพราะอายุความตามมาตรานี้เป็นกรณีระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการไม่ใช่คดีระหว่างบริษัทกับกรรมการเหมือนคดีนี้ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share