แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้เลขคดีที่ขอให้ศาลนับโทษจำเลยต่อนั้น แม้จะถือว่าเป็นการแก้ฟ้องหรือแก้คำพิพากษาซึ่งมิใช่เป็นการเขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด ประมวลวิธีพิจารณาอาญาก็ห้ามไว้ทั้งสองประการ
การที่ศาลสั่งให้แก้หมายแจ้งโทษให้นับโทษจำเลยใหม่นั้น หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาไม่.
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีกันชาไม่รับอนุญาต และขอให้นับโทษต่อจากคดีแดงที่ ๓๔๒๕/๒๔๘๒ เมื่อศาลพิพากษาและออกหมายแจ้งโทษแล้ว โจทก์จึงยื่นคำร้องว่าตามฟ้องโจทก์ที่ว่า จำเลยเป็นคน คนเดียวกับคดีแดงที่ ๓๔๒๕/๒๔๘๒ นั้นผิดไป ความจริง เป็นคดีแดงที่ ๓๔๒๕/๒๔๘๑ จึงขอแก้ฟ้อง เมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วเช่นนี้เท่ากับขอให้แก้คำพิพากษา จึงให้ยกคำร้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตรงตามคำขอในฟ้องของโจทก์แล้วการที่โจทก์ร้องขอแก้ไขเป็นเวลาภายหลังที่ศาลตัดสินคดีไปแล้ว จะถือว่าเป็นการขอแก้ฟ้องหรือขอให้แก้คำพิพากษาซึ่งมิใช่เป็นการเขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด ประมวลวิธีพิจารณาอาญาก็ห้ามไว้ทั้งสองประการ ส่วนการที่ศาลสั่งให้แก้หมายแจ้งโทษนั้น หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาไม่ จึงพิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์