คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การแบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวมถ้าแบ่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองแล้วที่ดินที่แบ่งออกแต่ละแปลงจะมีความกว้างไม่ถึง10เมตรและจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยมากถึงขนาดต้องรื้อบ้านของจำเลยเมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยยังมิได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกครอบครองเป็นส่วนสัดจึงไม่ชอบที่จะแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามความยาวของรูปที่ดินดังที่โจทก์ทั้งสองขอแต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทและต่างฝ่ายต่างโต้เถียงกันเกี่ยวกับวิธีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแสดงว่าในระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมไม่สามารถตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรกรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1364ศาลฎีกาให้นำที่ดินพิพาทประมูลราคาระหว่างกันหากประมูลไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้แบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 72771 เนื้อที่ 2 งาน39 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสำรวม แย้มเมฆ ต่อมานางสำรวมได้แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในเนื้อที่100 ส่วนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ด้านทิศเหนือเริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวยาวไปจนสุดที่ดินด้านทิศตะวันตกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 โจทก์ทั้งสองตกลงซื้อที่ดินโฉนดดังกล่าวเฉพาะส่วนของนางสำรวม ก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะซื้อที่ดินโจทก์ทั้งสองทราบแนวเขตที่ดินของนางสำรวม และจำเลยแล้วโจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินส่วนที่โจทก์ทั้งสองซื้อมาจึงแจ้งให้จำเลยไปขอทำการรังวัดแบ่งแยก แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองส่วน ให้ด้านทิศใต้เป็นของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 139 ส่วน ให้ทิศเหนือเป็นของจำเลยเนื้อที่ 100 ส่วนโดยเริ่มต้นแบ่งจากแม่น้ำเจ้าพระยาวัดเป็นแนวตามความยาวของที่ดินไปจนสุดที่ดินด้านทิศตะวันตก หากจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ไม่เคยตกลงกับนางสำรวม แย้มเมฆ เพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินทางด้านทิศเหนือเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวยาวไปจนสุดที่ดินด้านทิศตะวันตกตามรูปแผนที่ท้ายฟ้องแต่ได้ตกลงแบ่งที่ดินให้จำเลยตามแนวครอบครองโดยจำเลยได้ที่ดินส่วนที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยในปัจจุบัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 72773 (ที่ถูกโฉนดเลขที่ 72771)ตำบลไทรม้า (บางไซรม้า) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ)จังหวัดนนทบุรี ออกเป็นสองส่วนในด้านทิศใต้เป็นของโจทก์ทั้งสอง139 ส่วน ให้ด้านทิศเหนือเป็นของจำเลยเนื้อที่ 100 ส่วนโดยเริ่มแบ่งจากด้านแม่น้ำเจ้าพระยาวัดตามแนวยาวของที่ดินเป็นแนวตรงไปจนสุดที่ดินด้านทิศตะวันตก หากจำเลยไม่ไปทำการรังวัดแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่เคยตกลงกับนางสำรวมว่าจะแบ่งที่ดินพิพาทตามทิศทางที่โจทก์กล่าวในฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทตามทิศทางดังกล่าวโดยจำเลยไม่ยินยอมจึงไม่อาจทำได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งโจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 72771 ตำบลไทรม้า (บางไซรม้า) อำเภอเมืองนนทบุรี(ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ 2 งาน 39 ตารางวา อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นของนางสำรวมพี่สาวจำเลยต่อมาจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางสำรวม 100 ส่วนในจำนวน 239 ส่วนโดยจำเลยไม่เคยตกลงกับนางสำรวมว่าจะแบ่งที่ดินพิพาทตามทิศทางที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยได้ปลูกบ้านพักอยู่อาศัยอยู่บนที่ดินพิพาทด้านที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางสำรวมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 และโจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองจะขอให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทตามความยาวของที่ดินวัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวตรงไปจนสุดที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันตกโดยให้โจทก์ทั้งสองได้ที่ดินทางด้านทิศใต้และจำเลยได้ที่ดินทางด้านทิศเหนือได้หรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับนางสำรวมเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนเดิมไม่เคยตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกัน โจทก์ทั้งสองซึ่งซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางสำรวมก็ยังมิได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยได้ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินพิพาทด้านที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามรายงานเผชิญสืบที่ดินพิพาทของศาลชั้นต้นปรากฎว่าที่ดินพิพาทด้านที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยากว้างประมาณ17 เมตร มีบ้านของจำเลยปลูกในที่ดินอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยากว้างประมาณ 10 เมตร บ้านปลูกในลักษณะแน่นหนาถาวร ที่โจทก์ฎีกาขอให้แบ่งที่ดินพิพาทตามความยาวของที่ดินตามส่วนที่โจทก์ทั้งสองและและจำเลยมีกรรมสิทธิ์รวมโดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินด้านหน้าที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยกันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 บัญญัติว่า “การแบ่งทรัพย์พึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้” ดังนี้ ถ้าแบ่งที่ดินพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสองแล้ว ที่ดินที่แบ่งออกแต่ละแปลงจะมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร และจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยมากนักถึงขนาดต้องรื้อบ้านของจำเลยซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นไม่มีความประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยยังมิได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกครอบครองเป็นส่วนสัด จึงไม่ชอบที่จะแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามความยาวของรูปที่ดินดังที่โจทก์ทั้งสองขอฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาท เมื่อต่างฝ่ายต่างโต้เถียงกันเกี่ยวกับวิธีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แสดงว่าในระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมไม่สามารถตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364″
พิพากษากลับ ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 742771 โดยให้นำที่ดินพิพาทประมูลราคากันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเจ้าของรวมหากประมูลไม่ได้ ให้นำออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ขายได้แบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามสัดส่วนที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีอยู่ในฐานะเจ้าของรวม

Share