คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1536/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 6 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจทำนิติกรรมจำนองที่ดินของตนจำเลยที่ 1 ไปจำนองโดยมีข้อสัญญาด้วยว่าถ้าบังคับจำนองได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและ ลูกหนี้ยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดอยู่นั้นให้จนครบสัญญาข้อนี้ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เพราะเป็นการที่จำเลยที่ 1 กระทำนอกเหนือไปจากอำนาจที่ได้รับมอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารโจทก์ภายในวงเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งหกเป็นผู้ค้ำประกันและนำหลักทรัพย์คือที่ดินรวม ๔๕ โฉนดพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกัน จำเลยยอมให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี และยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้น ครบกำหนดตามสัญญากู้แล้วจำเลยยังไม่ชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไถ่ถอนจำนองแล้วจำเลยก็ไม่ชำระ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนก็ขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้ ถ้าขายได้เงินชำระหนี้ไม่พอขอให้สั่งยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหมดเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่าที่ดินที่จำนองไว้กับโจทก์นั้น จำเลยทั้งหกคนเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ จำนองที่ดินค้ำประกันการกู้เงินเบิกเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ จริง แต่มิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนจำนองผู้พันทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้เอาทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ รับผิดด้วยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๓ ฯลฯ
ชั้นนี้สองสถานคู่ความรับกันว่าโฉนดที่ ๔๗ ได้ปลอดจำนองแล้วโดยเอาโฉนดที่ ๘ เข้ามาแทนแต่โฉนดที่ ๘๓ นี้ไม่ได้จดทะเบียนยกเว้นหลักทรัพย์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๓ คู่ความขอให้ศาลพิจารณาว่าตามหนังสือมอบอำนาจ ล.๔ ถึง ล.๘ นั้นได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากับโจทก์ตามสัญญาข้อ ๖ แห่งหนังสือสัญญาจำนองหรือไม่ แล้วให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดโดยคู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามสัญญาข้อ ๖ นั้น เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจที่ได้รับมอบจะให้ผูกพันจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดเต็มตามฟ้องแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗ ได้ปลดจำนองแล้วโดนจำเลยเอาที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐ มาจำนองแทน พิพากษาให้จำเลยทั้งหกคนร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์ ๓๖๑,๑๘๑.๗๑ บาท กับดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งหกคนไม่ชำระหนี้ให้โจทก์หรือชำระไม่ครบถ้วน ก็ให้ขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำนองโจทก์ไว้เอาเงินใช้ให้โจทก์จนครบ ถ้าขายได้เงินชำระหนี้ไม่พอก็ให้ยึดและบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น การบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๓ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๓ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจจดทะเบียนจำนองยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑๓ ก็น่าจะได้ระบุไว้ให้ชัดแจ้งในหนังสือมอบอำนาจ และการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้นคิดได้ถึงเพียงเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและจำเลยผิดนัดโดยไม่ชำระหนี้ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จนถึงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๑๑ และนับแต่นั้นให้คิดดอกเบี้ยธรรมดาในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ และถ้าขายที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกขายทอดตลาดเอาเงินชำระจนครบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๒ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจ ล.๔ ถึง ล.๘ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ไว้ มีข้อความอย่างเดียวกันว่าจำเลยแต่ละคนได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมจำนองและจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินโฉนดต่าง ๆ รวม ๔๕ แปลง ซึ่งหมายถึงการทำนิตกรรมจำนองและจดทะเบียนการจำนองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยลักษณะจำนองนั่นเอง เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๘ มาตรา ๕ ซึ่งแก้ไขมาตรา ๗๓๓ เดิมของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะจำนองแล้ว เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนสัญญาจำนองกับโจทก์ตามสัญญาข้อ ๖ แห่งหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ล.๓ ซึ่งมีข้อความว่า “เมื่อถึงการบังคับจำนองเอาทรัพย์ซึ่งจำนองนี้ขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่า อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั้นเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดหรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองหลุดและราคาทรัพย์ที่จำนองนี้ต่ำกว่า จำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ดังได้กล่าวนั้นแล้ว เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวน” จึงเป็นการที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำนอกเหนือไปจากอำนาจที่ได้รับมอบ ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ผู้มอบอำนาจ
พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดให้หนี้ให้โจทก์ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระโจทก์อยู่ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share