คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คในวันเดียวกับวันออกเช็คว่า’โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย’ หรือ ‘ยังรอเรียกเก็บอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่’ซึ่งอาศัยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 991(1)คือเงินในบัญชีไม่พอจ่ายในวันที่ออกเช็ค กรณีเช่นนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเงินในบัญชีของจำเลยอีก.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘มีปัญหาในชั้นฎีกาว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จะต้องนำสืบว่า ในวันออกเช็คเงินในบัญชีของจำเลยมีพอจ่ายตามเช็คหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกลงวันที่ 20 มีนาคม 2529 จำนวนเงิน19,058 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 และสั่งจ่ายเช็คฉบับที่สองวันที่ 25 มีนาคม 2529 จำนวนเงิน 20,790 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวทั้งสองฉบับ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คฉบับแรกปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 20มีนาคม 2529 ระบุว่า ‘โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย’ ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3 เช็คฉบับที่สองปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 25มีนาคม 2529 ระบุว่า ‘ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่’ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 เห็นว่า เช็คทั้งสองฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกับวันออกเช็คหรือตามวันที่ลงในเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 บัญญัติว่าธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้คือ
1. ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายเช็คนั้นหรือ
2. เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็คหรือ
3. ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ตามปกติธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็คเว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นข้อความที่ธนาคารตามเช็คอ้างในใบคืนเช็คว่า ‘โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย’ และอ้างว่า ‘ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่’ นั้นเป็นข้อความที่มีความหมายชัดเจนว่าการปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ได้อาศัยข้อยกเว้นตามข้อ(2) และข้อ (3) และไม่ใช่ข้อขัดข้องประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเงินในบัญชี ดังนั้นเหตุที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ต้องอาศัยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(1) คือเงินในบัญชีไม่พอจ่ายในวันที่ออกเช็ค กรณีเช่นนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเงินในบัญชีของจำเลยอีก คดีโจทก์มีมูล…………’
พิพากษากลับให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป.

Share