แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก” ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ท. 728/2522 ข้อ 1(2) และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. 4/2528 ข้อ 3(2) มีความหมายว่าในกรณีผู้ซื้อซึ่งจดทะเบียนประกอบการค้าเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังไม่ว่าเป็นหัวหรือจัดทำเป็นผง แป้ง เส้น ก้อน แท่ง ฝอย ชิ้น เม็ด หรือจัดทำในลักษณะอื่น จะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งที่จ่ายเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 0.75 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในแต่ละครั้ง ไม่ว่าผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกนั้นจะได้ส่งออกสินค้าที่ซื้อไว้จริง ๆ หรือไม่ ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อและได้จ่ายเงินซื้อแป้งมันสำปะหลังและมันเส้นให้แก่ผู้รับ จึงต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราดังกล่าว แม้โจทก์จะได้จำหน่ายแป้งมันและมันเส้นในประเทศโดยไม่ได้ส่งออกก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ประเมินภาษีเงินได้แล้วสั่งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และเรียกเงินเพิ่ม กับคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ เพราะนับแต่โจทก์เริ่มซื้อและขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังภายในประเทศเมื่อปี ๒๕๒๖ ยังไม่เคยส่งออกไปขายต่างประเทศเพิ่งส่งออกในปี ๒๕๒๘ และได้หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรถูกต้องแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ ๒๕,๐๐๐ บาท แทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทโจทก์ประกอบกิจการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งส่งสินค้าดังกล่าวไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ และต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โจทก์ได้ขออนุญาตเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และได้ต่อใบอนุญาตตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ในระยะเวลาดังกล่าวกรมสรรพากรได้มีคำสั่กรมสรรพากรที่ ท.๗๒๘/๒๕๒๒ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๒ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และกฏกระทรวง ฉบับที่ ๑๔๔ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าทีหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ๐.๗๕ ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในแต่ละครั้งในกรณีเฉพาะผู้จ่ายเงินและสำหรับการซื้อสินค้าตามข้อ ๑ (๒) ได้แก่ มันสำปะหลังไม่ว่าเป็นหัวหรือจัดทำเป็นผง แป้ง เส้น ก้อน แท่ง ฝอย ชิ้น เม็ด หรือจัดทำในลักษณะอื่นเฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก แล้วต่อมาได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.๔/๒๕๒๘ ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๘ ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ท.๗๒๘/๒๕๒๒ กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยกำหนดเฉพาะผู้จ่ายและการซื้อสินค้าไว้ในข้อ ๓(๒) เหมือนกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.๗๒๘/๒๕๒๒ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์คงมีเพียงว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖, ๒๕๒๗, ๒๕๒๘ คิดถึงเดือนกรกฏาคม การที่โจทก์ซื้อแป้งมันและมันเส้นรวมเป็นเงิน ๒,๕๙๐,๓๓๗,๖๙๐.๘๓ บาท โดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้จำหน่ายขายในประเทศ ไม่ได้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ ๐.๗๕ โจทก์คงหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เฉพาะมันอัดเม็ดซึ่งโจทก์ได้ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศนั้น ชอบด้วยคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ซื้อแป้งมันและมันเส้นไม่ว่าในปี พ.ศ.๒๕๒๖ และปี พ.ศ. ๒๕๒๗ หรือปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ก็ย่อมตกอยู่ในบังคับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.๗๒๘/๒๕๒๒ หรือคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. ๔/๒๕๒๘ ซึ่งยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ๗๒๘/๒๕๒๒ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อและได้จ่ายเงินซื้อแป้งมันและมันเส้นให้แก่ผู้รับ จึงต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ๐.๗๕ ตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว ทั้งนี้เพราะโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าส่งออกตามความหมายของคำว่า “เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก” ที่ระบุไว้ในคำสั่งกรมที่แล้ว จะเห็นได้ว่าคำว่า “เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก” ย่อมมีความหมายชัดอยู่ในตัวเองว่าคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ในกรณีที่ผู้ซื้อซึ่งประกอบการค้าเป็นผู้ส่งออกจะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คำว่า เป็นผู้ซื้อส่งออก จึงมีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์เป็นผู้ทำการค้าส่งออกหาจำต้องได้ส่งออกซึ่งสินค้านั้นด้วยจริง ๆ ดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อแป้งมันและมันเส้นไม่ว่าจะอยู่ในบังคับคำสั่งกรมสรรพกรที่ ท.๗๒๘/๒๕๒๒ หรือคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.๔/๒๕๒๘ ก็ตาม โจทก์ก็ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามนัยที่กล่าวแล้วโจทก์หาได้รับยกเว้นเฉพาะคำสั่งดังกล่าวอันเนื่องจากโจทก์ขายสินค้าที่ซื้อมาให้ลูกค้าภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งออกไปขายให้แก่ลูกค้ายังต่างประเทศดังโจทก์อุทธรณ์ไม่แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้หักเงินจากผู้ขายไว้อัตราร้อยละ ๐.๗๕ โดยอ้างว่าเป็นการหักไว้เผื่อความสูญเสีย ก็ไม่ทำให้โจทก์หลุดพ้นจากหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินจากผู้ซื้อไปได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน