แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเมื่อศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่3 ไม่ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วจำเลยที่ 5จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย คงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรกเท่านั้น แม้จำเลยที่ 5 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการได้ร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การฯ และร่วมกันเบียดบังเอาเงินขององค์การฯ ไปโดยทุจริตหลายครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 83
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันวางโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน จำเลยที่ 4 กระทำผิด 5 กระทง รวมเป็นจำคุก 10 เดือน จำเลยที่ 5 กระทำผิด 24 กระทง รวมเป็นจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 6 กระทำผิด 14 กระทง รวมเป็นจำคุก 2 ปี 4 เดือนคำขอนอกจากนี้และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 9 ปี จำเลยที่ 4 ถึงที่6 มีความผิดตามมาตรา 147 ประกอบด้วยมาตรา 86 ให้จำคุกคนละ 6 ปีคำเบิกความของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ 1 ใน 3 ให้จำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 ถึงที่6 คนละ 4 ปี คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วจำเลยที่ 5 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย จำเลยที่ 5 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเท่านั้นแม้จำเลยที่ 5 จะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 วางโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน จำเลยที่5 กระทำผิด 24 กระทง รวมเป็นจำคุก 4 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.