คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าข้อ 2 มีความว่า สัญญาเช่ามีกำหนด 15 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2504 และแทนการชำระค่าเช่าในระหว่างการเช่าดังกล่าวนี้ ผู้เช่าตกลงซ่อมแซมโรงและหน้าโรงในส่วนที่จำเป็นเพราะทรุดโทรมไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ ประมาณเงิน 200,000 บาท เป็นการตอบแทนแทนค่าเช่า ฯลฯ สัญญาข้อ 10 มีความว่าถ้าหมดสัญญาเช่า ผู้เช่า ไม่อาจจะดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะกิจการไม่เจริญตามความคาดหมาย แต่เพื่อมิต้องขนย้ายทรัพย์สินที่ซื้อมาจากบริษัท ค. ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าต่อสัญญาโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ แต่ให้คิดหักเป็นรายเดือนออกจากเงิน 170,000 บาท เป็นจำนวนเดือนละ 5,000 บาท จนครบจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว เมื่ออยู่ต่อไปจนครบจำนวนเงิน 170,000 บาทที่จ่ายไปแล้ว ผู้เช่ายินยอมโอนทรัพย์สมบัติรายนี้ให้แก่ผู้ให้เช่าทั้งนี้ต้องแล้วแต่ความสมัครใจของผู้เช่าว่าจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ฯลฯ ดังนี้ เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาเช่าข้อ 2 ข้อ 10 ประกอบกันแล้ว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยในขณะที่ทำสัญญาได้ว่า ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้การเช่าระยะแรกกับระยะหลังติดต่อกันไป คำว่า “ต่อสัญญา” ในข้อ 10 นั้น ในที่นี้ไม่มีทางแปลเป็นอย่างอื่นนอกจากต่อจากกำหนดเวลาเช่าระยะแรก ข้อความในสัญญาข้ออื่นก็ไม่มีตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีความประสงค์ที่จะเว้นระยะการเช่าสองระยะนั้นให้ห่างจากกันในกรณีใด ฉะนั้นเมื่อการเช่าระยะแรกครบกำหนด 15 เดือนในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 การเริ่มต้นนับกำหนดเวลาเช่าระยะที่ 2 จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 16มิถุนายน 2505 ตามสัญญา และเมื่อคำนวณจำนวนเงินค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท หักกับจำนวนเงิน 170,000 บาท ตามสัญญาข้อ 10 แล้ว การเช่าระยะที่ 2 มีกำหนด 34เดือน และครบกำหนดในวันที่ 15 เมษายน 2508
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 โจทก์ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องให้จำเลยผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตลอดเวลาของการเช่า หากโจทก์ขัดขวางมิให้จำเลยใช้สถานที่เช่า ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามสัญญา ชอบที่จำเลยจะดำเนินการตามสิทธิของตนในฐานที่โจทก์ผิดสัญญาเป็นอีกส่วนหนึ่ง กรณีดังกล่าวนั้น การที่โจทก์ขัดขวางไม่ให้จำเลยใช้สถานที่เช่า นับตั้งแต่สัญญาเช่าระยะแรกครบกำหนด เพิ่งยอมให้ใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2506 หาเป็นเหตุให้กำหนดเวลาเช่าระยะหลังมาเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2506 ไม่ เพราะคู่กรณีมิได้ตกลงกันเช่นนั้น การเช่าระยะหลังจึงครบกำหนดในวันที่ 15เมษายน 2508 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป ได้บอกกล่าวให้จำเลยรู้ตัวก่อนแล้วสัญญาเช่าย่อมระงับ จำเลยไม่มีสิทธิจะใช้สถานที่เช่าได้อีก การที่จำเลยยังใช้สถานที่เช่าของโจทก์อยู่ หากโจทก์ได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นละเมิด
ในกรณีละเมิด ถ้าเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อยู่ในตัว แม้โจทก์นำสืบถึงจำนวนความเสียหายไม่ได้แน่นอน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
จำเลยเช่าโรงภาพยนตร์ของโจทก์มาทำการฉายภาพยนตร์หาประโยชน์ เมื่อสัญญาเช่าระงับแล้ว จำเลยยังคงใช้สถานที่เช่าต่อมา จึงเห็นได้อยู่ในตัวว่าโจทก์ย่อมเสียหายขาดประโยชน์ที่จะพึงได้จากโรงภาพยนตร์นั้น อย่างน้อยก็เท่ากับค่าเช่าที่เคยได้จากจำเลยตามสัญญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิด อันจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายความเสียหายที่โจทก์ได้รับไว้ 2 ประการ คือ ถ้าจำเลยส่งมอบสถานที่เช่าคืนแก่โจทก์ โจทก์จะนำไปขายชำระหนี้จำนองให้ธนาคาร การที่จำเลยไม่ส่งคืน ทำให้โจทก์ขายไม่ได้ ต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นแก่ธนาคารตามฟ้องซึ่งจำเลยจะต้องรับผิด ประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ขายโจทก์อาจจัดการใช้ทรัพย์สินรายนี้หาประโยชน์ จะมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่าเดือนละ 70,000 บาท การที่จำเลยไม่ส่งคืน จึงทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้ดังกล่าวอีกประการหนึ่ง โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายประเภทที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารแต่ประการเดียว ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท จึงเป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากโจทก์ต้องขาดรายได้ในการที่จะนำทรัพย์สินที่เช่ามาหาประโยชน์ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั้นเอง หาเป็นการนอกประเด็นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์พร้อมอุปกรณ์การฉายและใช้ประจำจากโจทก์ จำเลยเอาทรัพย์ที่เช่าไปให้เช่าช่วง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ ศาลแพ่งพิพากษาว่าจำเลยยังไม่ผิดสัญญาและมีสิทธิเช่าต่อไปตามสัญญาเช่า ข้อ 10 ฯลฯ ให้ยกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งแดงที่ 216/2506 โจทก์ไม่ประสงค์จะให้เช่าต่อไป ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าระยะที่ 2 ได้ให้ทนายบอกแจ้งให้จำเลยส่งมอบ แต่จำเลยไม่ส่งมอบ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารและเรียกค่าเสียหาย ฯลฯ

จำเลยให้การว่า โรงภาพยนตร์ชำรุดทรุดโทรม โจทก์ให้จำเลยเช่าแบบหักเงินที่จำเลยได้ใช้จ่ายไปแทนการชำระค่าเช่า ด้วยเหตุที่จำเลยลงทุนมากมาย ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร และให้ใช้ค่าเสียหาย ฯลฯ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยไม่ต้องใช้ดอกเบี้ยในจำนวนค่าเสียหาย

จำเลยฎีกา

สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 2 มีความว่า สัญญาเช่ามีกำหนด15 เดือนนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2504 และแทนการชำระค่าเช่าในระหว่างการเช่าดังกล่าวนี้ ผู้เช่าตกลงซ่อมแซมโรงและหน้าโรงในส่วนที่จำเป็นเพราะทรุดโทรม ให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ประมาณเงิน 200,000 บาท เป็นการตอบแทนแทนค่าเช่า ฯลฯ สัญญาข้อ 10 มีความว่าถ้าหมดสัญญาเช่าผู้เช่าไม่อาจจะดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะกิจการไม่เจริญตามความคาดหมาย แต่เพื่อมิต้องขนย้ายทรัพย์สินที่ซื้อมาจากบริษัทเคี่ยนหงวน(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าต่อสัญญาโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ แต่ให้คิดหักเป็นรายเดือนออกจากเงิน 170,000 บาท เป็นจำนวนเดือนละห้าพันบาทจนครบจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว เมื่ออยู่ต่อไปจนครบจำนวนเงิน 170,000 บาท ที่จ่ายไปแล้ว ผู้เช่ายินยอมโอนทรัพย์สมบัติรายนี้ให้แก่ผู้ให้เช่าไป ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ความสมัครใจของผู้เช่าว่า จะอยู่ต่อไปหรือไม่ ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาเช่าข้อ 2 และข้อ 10 ประกอบกัน ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยในขณะที่ทำสัญญาได้ว่า ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้การเช่าระยะแรกกับระยะหลังติดต่อกันไป คำว่า “ต่อสัญญา” ในสัญญาข้อ 10 ไม่มีทางแปลเป็นอย่างอื่น นอกจากต่อจากกำหนดเวลาเช่าระยะแรก ข้อความในสัญญาข้ออื่นก็ไม่มีตอนใดที่จะแสดงให้เห็นว่า คู่สัญญามีความประสงค์ที่จะเว้นระยะการเช่าสองระยะนั้นให้ห่างจากกันในกรณีใด ฉะนั้นเมื่อการเช่าระยะแรกครบกำหนด 15 เดือน ในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 การเริ่มต้นนับกำหนดเวลาเช่าระยะที่ 2 จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2505 ตามสัญญา และเมื่อคำนวณจำนวนเงินค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท หักกับจำนวนเงิน 170,000 บาท ตามสัญญาข้อ 10 แล้ว การเช่าระยะที่ 2 ก็มีกำหนด 34 เดือน และครบกำหนดในวันที่ 15 เมษายน 2508 ที่จำเลยจะให้เริ่มนับกำหนดเวลาเช่าระยะหลังตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2506 อันเป็นวันที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันจึงเป็นการนอกเหนือไปจากสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำกันไว้

ปัญหาว่า การที่โจทก์ขัดขวางไม่ให้จำเลยใช้สถานที่เช่าด้วยประการต่าง ๆ นับตั้งแต่สัญญาเช่าระยะแรกครบกำหนด เพิ่งยอมให้ใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2506 จะเป็นเหตุให้กำหนดเวลาเช่าระยะหลังขยายมาเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2506 หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า จริงอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 โจทก์ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องให้จำเลยผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตลอดเวลาของการเช่า ฉะนั้น หากโจทก์ขัดขวางไม่ให้จำเลยใช้สถานที่เช่า ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามสัญญา ชอบที่จำเลยจะดำเนินการตามสิทธิของตนในฐานะที่โจทก์ผิดสัญญาเป็นอีกส่วนหนึ่ง หาเป็นเหตุให้กำหนดเวลาเช่าระยะหลังขยายมาเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2506 ไม่ เพราะคู่กรณีมิได้ตกลงกันเช่นนั้น เมื่อเป็นดังนี้ การเช่าระยะหลังจึงครบกำหนดในวันที่ 15 เมษายน 2508 ก่อนโจทก์ฟ้องคดี โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป ได้บอกกล่าวให้จำเลยรู้ตัวก่อนแล้ว สัญญาเช่าย่อมระงับ จำเลยไม่มีสิทธิจะใช้สถานที่เช่าได้อีก การที่จำเลยยังใช้สถานที่เช่าของโจทก์อยู่ หากโจทก์ได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นละเมิดอันจำเลยจะต้องรับผิด

เกี่ยวกับค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีละเมิดนั้นก็เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อยู่ในตัว แม้โจทก์นำสืบถึงจำนวนความเสียหายไม่ได้แน่นอน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

คดีนี้ จำเลยเช่าโรงภาพยนตร์ของโจทก์มาทำการฉายภาพยนตร์หาประโยชน์ เมื่อสัญญาเช่าระงับแล้ว จำเลยยังคงใช้สถานที่เช่าต่อมา จึงเห็นได้อยู่ในตัวว่าโจทก์ย่อมเสียหายขาดประโยชน์ที่จะพึงได้จากโรงภาพยนตร์นั้น อย่างน้อยก็เท่ากับค่าเช่าที่เคยได้จากจำเลยตามสัญญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดอันจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในเรื่องความเสียหายนี้ ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายความเสียหายที่โจทก์ได้รับไว้ 2 ประการ คือ ถ้าจำเลยส่งมอบสถานที่เช่าคืนแก่โจทก์ โจทก์จะนำไปขายชำระหนี้จำนองให้ธนาคารการที่จำเลยไม่ส่งคืน ทำให้โจทก์ขายไม่ได้ ต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นแก่ธนาคารตามฟ้อง ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ขายโจทก์อาจจัดการใช้ทรัพย์สินรายนี้หาประโยชน์ จะมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่าเดือนละ 70,000 บาท การที่จำเลยไม่ส่งคืน จึงทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้ดังกล่าว อีกประการหนึ่ง โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายประเภทที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารแต่ประการเดียว ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท จึงเป็นการให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากโจทก์ต้องขาดรายได้ในการที่จะนำทรัพย์สินที่เช่ามาหาประโยชน์ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั้นเอง หาเป็นการนอกประเด็นไม่ และจำนวนค่าสินไหมทดแทนนี้ก็เท่ากับจำนวนค่าเช่ารายเดือนที่เคยได้จากจำเลย

พิพากษายืน

Share