คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยปิดกั้นทางสาธารณะโดยการขุดหลุมและปักเสาไม้ลงบนถนนแล้วใช้ไม้และกิ่งไม้ขวางไว้ได้มีเจตนาไม่ให้บุคคลทั่วไปผ่านไปมา การขุดหลุมปักเสาลงบนถนนย่อมทำให้ถนนเสียหาย และการที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถผ่านไปมาได้ ย่อมเป็นการทำให้ถนนไร้ประโยชน์ การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 83 กระทงหนึ่ง มาตรา 360อีกกระทงหนึ่ง จำคุกกระทงละ 6 เดือน จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 8 เดือนจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 360, 83 จำคุกคนละ 6 เดือนให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้คนละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสามได้ปิดกั้นถนนเลียบคลองจำปาหล่อตามฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสามไม่ได้ฎีกาโต้เถียงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าจำเลยทั้งสามได้ปิดกั้นถนนพิพาท (ถนนเลียบคลองจำปาหล่อ)จริง ข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ จำเลยทั้งสามคงฎีกาโต้เถียงแต่เพียงว่า ที่ดินพิพาท (บริเวณถนนที่จำเลยทั้งสามปิดกั้น)ไม่ใช่ทางสาธารณะแต่เป็นที่ดินที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิครอบครองซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวนี้ก่อนแล้วจึงจะได้วินิจฉัยตามข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 หรือไม่ต่อไป
ตามปัญหาข้อฎีกาของจำเลยทั้งสามนั้น โจทก์มีนายหย่อน ชมสุวรรณ กำนันตำบลท้องที่ซึ่งเป็นกำนันมาตั้งแต่ปี 2511 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เห็นที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เด็ก และยังได้ความจากคำของนายหย่อนอีกว่า คลองจำปาหล่อเป็นคลองสาธารณประโยชน์เดิมกว้าง 10 กว่าเมตร ต่อมาตื้นเขินขึ้นมาจึงไม่กว้างเท่าเดิมนอกจากนี้โจทก์ยังมีนายเศกสิทธิ์ ประชุมชิต ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอ่างทอง มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ด้วยว่า ทางจังหวัดอ่างทองได้มีหนังสือขอทราบเรื่องราวเกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้ จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการรังวัดตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ผลปรากฏว่า ที่ดินพิพาทเป็นเขตคลองจำปาหล่อ ซึ่งเป็นคลองสาธารณประโยชน์ศาลฎีกาเห็นว่า พยานบุคคลของโจทก์เบิกความสอดคล้องรับกับพยานเอกสารจึงมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตคลองจำปาหล่อซึ่งเป็นคลองสาธารณประโยชน์ จึงเป็นที่สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2 ปกครองมาแต่ตกสำรวจปรากฏตามเอกสารหมาย อ.5 นั้น ปรากฏว่าเอกสารหมาย อ.5เป็นเพียงเรื่องราวที่จำเลยที่ 2 ขอออกโฉนด ยังไม่มีใครรับรองความถูกต้องแท้จริง จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยทั้งสามปิดกั้นถนนเลียบคลองจำปาหล่อซึ่งเป็นทางสาธารณะ จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามภาพถ่ายแสดงบริเวณที่เกิดเหตุหมาย จ.4 (รวม 4 ภาพ)และแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.5 จำเลยทั้งสามได้ปิดกั้นทาง (ถนน)สาธารณะ โดยการขุดหลุมและปักเสาไม้ลงบนถนนแล้วใช้ไม้และกิ่งไม้ขวางไว้โดยมีเจตนาไม่ให้บุคคลทั่วไปผ่านไปมารวม 2 แห่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 58 เมตร การขุดหลุมปักเสาลงบนถนนย่อมทำให้ถนนเสียหาย การที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถผ่านไปมาใช้ถนนได้ย่อมเป็นการทำให้ถนนไร้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 แล้วที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีอายุมากถึง 65 ปีแล้วทั้งไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ตามพฤติการณ์และรูปคดีสมควรที่จะรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้โอกาสประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ด้วย

Share