คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1515/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 184 บัญญัติให้ศาลออกหมายกำหนดวันนัดสืบพยานส่งให้แก่คู่ความ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้โจทก์มีหน้าที่นำส่งหมายนัด และโจทก์ทราบคำสั่งแล้ว ก็มิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งนั้น ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 70ก็ให้อำนาจศาลมีคำสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่งหมายนัดได้คำสั่งศาลดังกล่าวจึงชอบแล้ว ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 18 เมษายน 2527 โดยให้โจทก์เป็นผู้นำส่งหมายแจ้งวันนัดให้จำเลย หมายนัดออกวันที่ 15 มีนาคม2527 และส่งไปถึงงานเดินหมายและประกาศ กรมบังคับคดีเมื่อวันที่19 มีนาคม 2527 โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนกระทั่งวันที่ 12เมษายน 2527 จึงได้ไปติดต่อที่งานเดินหมาย แต่โจทก์ไม่นำส่งทั้งที่ศาลออกหมายนัดถึงทนายจำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่าการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ถอนฟ้อง ศาลอนุญาต
ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2527 โจทก์ยื่นคำแถลงว่า ศษลยังไม่ได้มีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยาน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการพิจารณาคดีต่อไป ศาลได้มีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์ หมายแจ้งนัดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่มีผู้รับหมายให้เปิด ให้โจทก์นำส่งและเจ้าหน้าที่ศาลได้กำหนดนัดวันสืบพยานโจทก์วันที่ 18 เมษายน2527 เวลา 13.30 นาฬิกา โจทก์ทราบคำสั่งศาลและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวแล้ว ต่อมาวันที่ 16 เมษายน 2527 กรมบังคับคดีรายงานมายังศาลว่า ได้รับหมายนัดจากศาลเมื่อวันที่ 19 มีนาคม2527 ใกล้กำหนดวันนัดแล้ว โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ไม่นำส่ง ในวันที่18 เมษายน 2527 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่นำส่งหมายนัดตามคำสั่งศาล ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์มิได้จงใจหรือมีเจตนาเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล ขอให้ศาลทำการไต่สวน แล้วยกเลิกคำสั่งเดิมและทำการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ โดยเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายนัดให้แก่คู่ความเป็นการไม่ชอบ เพราะเมื่อจำเลยได้ยื่นคำให้การแล้ว ศาลต้องออกหมายกำหนดวันสืบพยานส่งให้แก่คู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 184 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 184 บัญญัติให้ศาลออกหมายกำหนดวันนัดสืบพยานส่งให้แก่คู่ความ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้โจทก์มีหน้าที่นำส่งหมายนัด และโจทก์ทราบคำสั่งศาลแล้วก็มิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งนั้นทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 ก็บัญญัติให้อำนาจศาลมีคำสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่งหมายนัดได้ ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มิได้เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีตามคำสั่งศาลนั้น โจทก์อ้างว่าได้ไปนำส่งหมายนัด 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 8, 12, 14และ 16 มีนาคม 2527 แต่หมายนัดจากศาลยังไม่ไปถึงงานเดิมหมายและประกาศ กรมบังคับคดี โจทก์จึงนำส่งหมายนัดไม่ได้ ครั้นวันที่12 เมษายน 2527 โจทก์ได้ไปติดต่อที่งานเดินหมายและประกาศอีกปรากฏว่าหมายนัดมาถึงแล้ว แต่โจทก์เห็นว่าระยะเวลากระชั้นกับวันนัดสืบพยานโจทก์ หากนำส่งในวันนั้นก็คงจะส่งให้จำเลยไม่ทันจึงไม่นำส่งนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าหมายนัดออกเมื่อวันที่15 มีนาคม 2527 และส่งไปถึงงานเดินหมายและประกาศ วันที่ 19มีนาคม 2527 หากโจทก์ขวนขวายสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลก็ย่อมจะทราบและสามารถติดตามนำส่งหมายนัดได้ทันกำหนดนัด แต่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนกระทั่งวันที่ 12 เมษายน 2527 จึงได้ไปติดต่อที่งานเดินหมายและประกาศทั้งคดีนี้ศาลออกหมายนัดถึงทนายจำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการ กรมอัยการ ถ้าโจทก์นำส่งหมายนัดเสียในวันที่12 เมษายน 2527 ก็อยู่ในวิสัยที่จะส่งได้ทัน แต่โจทก์หาได้นำส่งหมายนัดนั้นไม่ แม้ศาลจะมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์นำส่ง ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าให้โจทก์นำส่งภายในเวลาอันสมควรให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่ต่ำกว่าสามวัน การที่โจทก์ไม่นำพาติดตามนำส่งหมายนัดล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศษลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดี ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share