คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยด้วยกรณีของมารดาได้ ส่วนบิดาของจำเลยและจำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรและจำเลยเกิดในขณะที่บิดาจำเลยมีสัญชาติไทยดังนี้แม้ต่อมาในภายหลังบิดาจำเลยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จำเลยก็หาถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวด้วยไม่ ในคดีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเกิดเมื่อใด ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้

ย่อยาว

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวฯ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมจรบัวซ้อน จำเลยเป็นบุตรของนายประกอบหรือเต่ยและนางเกียกหรือเกียดนายประกอบหรือเต่ยเกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่จังหวัดนครพนม มีบิดาคือนายมา ดีเต้ย นายมาเป็นคนญวนมิใช่คนไทย นางเกียกหรือเกียดมารดาของนายสมจรจำเลยเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนายประกอบหรือเต่ยบิดานายสมจรและนายสมจรจำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติสัญชาติและในขณะที่เกิดบุคคลทั้งสองเป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย นายประกอบหรือเต่ยบิดาจำเลยและนายสมจรจำเลยถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ตามเอกสารหมาย จ.1”
“ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาความว่า ขณะที่นายสมจรจำเลยเกิดนั้นปรากฏหลักฐานว่าบิดาเป็นคนไทย นายสมจรจำเลยจึงไม่ต้องถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นั้น พิเคราะห์แล้วประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515บัญญัติว่า ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
เห็นว่า การที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวนั้น ในประการแรกจะต้องปรากฏว่าบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีของนายสมจรจำเลยนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าในขณะที่เกิดนายสมจรจำเลยเป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้นายสมจรจำเลยจึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยด้วยกรณีของมารดาได้ ส่วนกรณีของบิดานั้นข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่านายประกอบหรือเต่ยบิดาของนายสมจรจำเลยเกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่จังหวัดนครพนมเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติสัญชาติและนายสมจรจำเลยก็เป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยการเกิดในราชอาณาจักรเช่นกัน แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมจรจำเลยเกิดเมื่อใดซึ่งศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ได้ความจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเอกสารหมาย จ.3 และทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.2 ว่า นายสมจรจำเลยเกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2506ดังนี้ ขณะที่นายสมจรจำเลยเกิด นายประกอบหรือเต่ยบิดาของนายสมจรจำเลยมีสัญชาติไทย แม้นายประกอบหรือเต่ยบิดาของนายสมจรจำเลยจะได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ในภายหลังก็ตาม นายสมจรจำเลยก็หาถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวไม่ถือไม่ได้ว่านายสมจรจำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว โดยการถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share